สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นอีกหนึ่งประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่น่าเที่ยว ด้วยภูมิประเทศอันสวยงามทั้งขุนเขา แม่น้ำ รวมไปถึงวัฒนธรรมอันงดงาม และความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ ลาวจึงเป็นอีกจุดหมายปลายทางหนึ่งที่ดึงดึดนักท่องเที่ยวไทยให้ไปเยือนมานักต่อนัก การเดินทางสามารถเดินทางได้ทั้งเครื่องบินและขับรถกันไปเอง HotelandResort จึงได้นำข้อมูลความรู้สำหรับการเดินทาง และท่องเที่ยวลาวในจุดหมายฮอทฮิตอย่าง เวียงจันทน์ วังเวียง และหลวงพระบางให้ชมกันค่ะ
พระธาตุหลวง
พระธาตุหลวง หรือ พระเจดีย์โลกะจุฬามณี นับเป็นปูชนียสถานอันสำคัญยิ่งแห่งเวียงจันทน์ และเป็นศูนย์รวมใจของประชาชนชาวลาวทั่วประเทศ ตามตำนานกล่าวว่าพระธาตุหลวงมีประวัติการก่อสร้างนับพันปีเช่นเดียวกันพระธาตุพนมในประเทศไทย และปรากฏความเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ของดินแดนทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงอย่างแยกไม่ออก สถานที่นี้ถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์สำคัญอย่างของประเทศลาว ดังปรากฏว่าตราแผ่นดินของลาวที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้มีรูปพระธาตุหลวงเป็นภาพประธานในดวงตรา
วัดสีสะเกด
วัดสีสะเกด หรือ วัดสะตะสะหัดสาราม ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางตัวเมืองนครหลวงเวียงจันทน์ ติดกับหอคำ พระราชวังหลวงของกษัตริย์ลาวสมัยก่อนสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2094 โดยพระเจ้าโพธิสารราช พระบิดาของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ในศตวรรษที่ 16
ในระยะที่ 2 วัดสิสะเกด สร้างขึ้นในวัดพฤหัสบดี ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 3 ปีขาน พ.ศ. 2361 โดย เจ้าอนุวงศ์กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ล้านช้างเวียงจันทน์ ถือว่าเป็นวัดที่สำคัญแห่งหนึ่ง ในนครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งอยู่ในระหว่างศึกสงครามหลายยุคหลายสมัย และเป็นวัดเดียว ที่ไม่เคยถูกทำลายเหมือนวัดอื่น ๆในเวียงจันทน์ หลังจากสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2367 พระเจ้าอนุวงศ์ก็ได้นำพาประชาชนลาวบำเพ็ญบุญกุศุลเฉลิมฉลองเป็นเวลา 9 วัน 9 คืนสิ่งที่ได้ก่อสร้างพร้อมกันนี้มี หอพระไตรปิฎก
ภายในบริเวณหอพิพิธภัณฑ์มีกมเลียนล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน แต่ละด้านมีพระพุทธรูปองค์เล็ก ๆ อยู่ตามฝาผนังที่ทำด้วยดินเผา ไม้ และอื่น ๆรวมทั้งหมดมี 6,840 องค์ ส่วนอยู่ด้านบนทำด้วยประทายเพชร มีจำนวน 120 องค์ แม่พิมพ์เดียวกัน พระพุทธรูป รวมทั้งหมด ทั้งองค์ใหญ่และเล็กรวมทั้งสิ้น 10,136 องค์ ซึ่งประชาชน ได้พร้อมใจ กันหล่อนำมาถวาย พระพุทธรูปจำนวนมากมายเหล่านี้หมายถึงศิษยานุศิษย์สาวกของพระพุทธเจ้า ตามพุทธประวัติได้กล่าวไว้ว่า เวลาพระองค์เสด็จไปแห่งหนใดสาวก และบริวาร ต้องติดตาม เพื่อรับฟังคำโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์มิได้ขาด
พระประธานในสิม
เดิมเป็นพระพุทธรูปองค์เล็กทำด้วยทองสำริด แต่เจ้าอนุวงศ์ได้ปฏิสังขรณ์ก่อครอบ ด้วยประทานเพชรฟอกด้วยน้ำปิว และให้พระประธานองค์ใหญ่หันหน้าไปทางด้านเหนือ เพื่อความ สะดวกสบายในไปกราบไหว้สักการะบูชา
ราวเทียน ในสิม
ราวเทียนในสิม มีความสูงประมาณ 1.88 เมตร กว้าง 2.10 เมตร ซึ่งเป็นศิลปผสมระหว่างล้านช้างกับล้านนา ทำด้วยไม้เนื้อดีและแกะสลักเป็นรูปพญานาค สองตนเอาหางพันกัน เป็นรูปสวยงามซึ่งหมายถึง ความสามัคคีระหว่างล้านช้างและล้านนา ที่พิเศษคือฟอกด้วยน้ำทองคำปิว สร้างในสมัยเดียวกันกับ วัดสิสะเกด ศตวรรษที่ 19
หอพระไตรปิฎก
สำหรับเก็บรักษาพระไตรปิฎก และตำราคัมภีร์ เอการทางพระพุทธศาสนา ถึงแม้วัดสีสะเกดจะไม่ถูกเผาทำลายเหมือนวัดอื่น ๆ แต่ก็ถูกปล้นสะดมจี้เอาพระไตรปิฎกไปจนหมดเกลี้ยง ปัจจุบันมีเพียงหอพระไตรที่แสดงไว้ให้แขกต่างด้าวท้าวต่างเมืองมาเที่ยวชม ส่วนของหลังคาหอพระไตรปิฎกจะมีความคล้ายคลึงศิลปะของพม่าเพราะในสมัยนั้น อาจได้รับอิทธิพลจากพม่า นอกจากนี้ยังมีแผ่นศิลาจารึก ซึ่งกล่าวถึงเรื่องราวประวัติของวัดสีสะเกด
ในสมัยก่อนวัดสิสะเกดมีอาณาเขตกว้างขวางมากมีกำแพงล้อมรอบทั้งสี่ด้าน ต่อมาในปี ค.ศ.1963 ได้ตัดเส้นทางใหม่ คือถนนเชษฐาธิราช ส่วนประตูโขงด้านหน้าติดกับหอคำ หรือสำนักงานประธานประเทศในปัจจุบัน
ประตูชัยประเทศลาว
ประตูชัยประเทศลาว สร้างขึ้นโดยรัฐบาลฝรั่งเศสสมัยเข้ามาครอบครองประเทศ โดยสร้างถนนและประตูชัยให้คล้ายกับชอง เอลิเซ่ในฝรั่งเศส แต่ยังสร้างไม่เสร็จดี ชาวลาวก็ประกาสอิสรภาพเสียก่อน ดังนั้น คำว่าชัยชนะของประตูนี้จึงหมายถึงชัยชนะของชาวลาว บริเวณรอบ ๆ ประตูชัยเป็นลานกว้างมีประชาชนชาวลาวมานั่งเล่นโดยรอบ นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นไปชมวิวเมืองเวียงจันด้านบนของประตูชัยได้ โดยจะต้องเสียค่าใช้จ่านให้กับทางเจ้าหน้าที่ ในยามเย็นสถานที่นี้จะเป็นที่ออกกำลังกาย เป็นสถานที่พักผ่อนของชาวเมืองเวียงจัน และนักท่องเที่ยว
วัดเจ้าแม่ศรีเมือง
วัดเจ้าแม่ศรีเมืองเป็นสถานที่ตั้งของศาลหลักเมือง ศาลเจ้าแม่ศรีเมือง เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งชาวลาว ให้ความเคารพนับถือกันเป็นอย่างมากและถือได้ว่าเป็นวัดที่มีความศักดิ์สิทธิ์อีกแห่งหนึ่งของนครเวียงจันทน์ และเดิมเคยเป็นที่ตั้งของเสาหลักเมืองของนครเวียงจันทน์ เป็นศาลหลักเมืองอันศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวเวียงจันทน์นับถือมากมักจะมาบนบานเพื่อขอสิ่งที่ปรารถนา
นักท่องเที่ยวมักจะมานมัสการเจ้าแม่หลักเมือง หรือ เจ้าแม่ศรีเมือง ณ วัดศรีเมือง ซึ่งเป็นวัดที่ศักดิ์สิทธิ์มีคนลาว-ไทย และชาวต่างประเทศไปสักการบูชา กราบไหว้เพื่อเป็นสิริมงคล ผู้มาเยือนมักจะเสี่ยงทายดวงชะตา ตามตำนานเล่าต่อ ๆ กันมา ขออะไร มักสมหวังดังปรารถนา ยกเว้นขอเรื่องความรักเท่านั้น
การนมัสการเจ้าแม่ศรีเมืองที่วัดศรีเมืองที่ชาวลาวเคารพสักการะนับว่าเป็นวัดที่ศักดิ์ที่สุดในนครเวียงจันทน์ หากได้มาประเทศลาวต้องมาสักการะเจ้าแม่ศรีเมือง ซึ่งเป็นพุทธสถานเก่าแก่โบราณ ครั้งหนึ่งในอดีตเคยเป็นที่ประดิษฐานของ พระแก้วมรกต
วัดศรีเมือง เคยเป็นที่ตั้งของเสาหลักเมืองประจำนครเวียงจันทน์ ตั้งอยู่บนถนนเชษฐาธิราช ทางทิศตะวันออกของสถานทูตฝรั่งเศส เป็นวัดแห่งหนึ่งในนครเวียงจันทน์ที่มีประชาชนลาวเดินทางไปสักการะบูชาเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน
ภายในวัดศรีเมืองเป็นที่ตั้งของเสาหลักเมืองประจำนครเวียงจันทน์ วัดศรีเมืองสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2106 โดยเหล่าเสนาอำมาตย์ของพระเจ้าไชยเชษฐาธราชได้ลงความเห็นให้สร้างวัดศรีเมือง ณ ที่แห่งนี้ ต่อมาถูกกองทัพสยามทำลายลงในปี พ.ศ.2371 และสร้างวัดศรีเมืองขึ้นมาใหม่ในปี พ.ศ.2458 ภายในวัดศรีเมืองมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่มากมาย โดยเฉพาะพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์และเก่าแก่ พระพุทธรูปองค์นี้ได้ชำรุดไปบางส่วน ซึ่งชาวลาวเชื่อกันว่าพระพุทธรูปองค์นี้ศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างมาก
ด้านหน้าบริเวณตรงข้ามประตูทางเข้าวัดศรีเมืองมีร้านจำหน่ายดอกไม้ ธูป เทียน และร้านจำหน่ายผลไม้ให้บริการทางด้านตะวันออกของวัดศรีเมืองมีสวนสาธารณะเล็กๆ มีอนุสาวรีย์พระบรมรูปของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ ซึ่งท่านเป็นผู้กอบกู้เอกราชคืนจากฝรั่งเศส ตั้งอยู่บนแท่นสูงกลางสวนสาธารณะ พระหัตถ์ทรงถือสมุดใบลานที่จารึกประมวลกฏหมายฉบับแรกของลาวไว้ พระบรมรูปเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ นี้เป็นของขวัญที่ทางสหภาพโซเวียตมอบให้มาก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หลังจากนั้นแผ่นป้ายโลหะจารึกพระนามถูกฝ่ายคอมมิวนิสต์รื้อทิ้งออกไป ภายหลังฝ่ายคอมมิวนิสต์ประสบชัยชนะในปี พ.ศ.2518
หอพระแก้ว
หอพระแก้ว คือสถานที่เคยประดิษฐาน พระแก้วมรกต หรือ พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ตั้งอยู่ที่นครหลวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว ปัจจุบันเหลือเพียงพระแท่นที่ประดิษฐาน เพราะพระแก้วมรกตองค์ปัจจุบันได้รับการอัญเชิญลงมาประทับที่กรุงเทพมหานครในสมัยของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โดยสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เป็นผู้อัญเชิญ แต่เดิมหอพระแก้วนั้นเคยเป็นวัดหลวงประจำราชวงศ์ของลาว พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช มีพระราชประสงค์ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2108 เพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตที่ได้อัญเชิญมาจากนครเชียงใหม่ อาณาจักรล้านนา เมื่อต้องเสด็จกลับมาครองราชบัลลังก์ล้านช้างหลังจากที่พระราชบิดาคือพระเจ้าโพธิสารสิ้นพระชนม์ลงในการทำศึกสงครามกับประเทศสยาม เมื่อปี พ.ศ. 2322 นครเวียงจันทน์ถูกกองทัพสยามตีแตก กองทัพสยามได้อัญเชิญพระแก้วมรกต พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของนครเวียงจันทน์ไป พร้อมทั้งกวาดต้อนราชวงศ์ชาวลาวกลับไปยังกรุงเทพฯมากมาย
สำหรับหอพระแก้วที่นักท่องเที่ยวเห็นอยู่ในปัจจุบันเป็นของที่ถูกบูรณะขึ้นใหม่เกือบทั้งหมด ในปี พ.ศ. 2480 – 2483 ภายใต้การควบคุมดูแลการก่อสร้างของเจ้าสุวรรณภูมา ผู้ที่จบการศึกษาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์จากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และต่อมายังได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังจากได้รับเอกราชอีกด้วย แม้หอพระแก้วปัจจุบันจะไม่ใช่วัดอีกต่อไป แต่นักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางมาท่องเที่ยวยังนครเวียงจันทน์ก็ยังเดินทางมาสักการบูชากันเป็นจำนวนมาก สำหรับส่วนในของพิพิธภัณฑ์นั้น จัดแสดง พระแท่นบัลลังก์ปิดทองจารึกพระไตรปิฏก ภาษาขอมและกลองสำริดประจำราชวงศ์ลาว สำหรับประตูใหญ่ทั้งสองเป็นของเก่าที่หลงเหลือมาแต่เดิม บานประตูจำหลักเป็นรูปองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บริเวณโดยรอบของหอพระแก้วเงียบสงบ ร่มเย็นมีไหขนาดกลางจากทุ่งไหหิน ในแขวงเชียงขวางวางตั้งอยู่ 1 ใบ อาณาบริเวณรอบๆ วัดสีสะเกดและหอพระแก้วเคยถูกใช้เป็นศูนย์กลางของหน่วยงานปกครองของฝรั่งเศสสมัยอาณานิคมมาก่อน
หอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ
หอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติตั้งอยู่ในกรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาว ซึ่งก่อตั้งขึ้นเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งชาติโดยเน้นถึงการปฏิวัติในยุค 1970 และตั้งอยู่ในอาคารยุคอาณานิคมของฝรั่งเศส ใน ค.ศ. 2007 ประเทศสหรัฐอเมริกาได้บริจาคเงินทุนเพื่อช่วยพัฒนาพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นใน ค.ศ. 1925โดยเป็นที่พำนักของผู้ว่าราชการฝรั่งเศส พิพิธภัณฑ์นี้นำเสนอประวัติศาสตร์ของประเทศลาวโดยมุ่งเน้นถึงการต่อสู้เพื่อเอกราชของชาวลาวจากนักล่าอาณานิคมต่างชาติรวมถึงกองกำลังจักรวรรดินิยม พิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่บนถนนสามแสนไทย ใกล้กับโรงแรมลาวพลาซ่า
การเดินทางจากกรุงเทพไปหลวงพระบาง
การขับรถส่วนตัวมาท่องเที่ยวในประเทศสปป.ลาว มีหลายเส้นทาง และค่อนข้างจะสะดวกสบายในการผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองกว่าในสมัยก่อนมาก เนื่องจากในปัจจุบันประเทศสปป.ลาว ได้เปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว ดังนั้นในแต่ละปีจึงมีนักท่องเที่ยวนิยมขับรถมาเองเป็นจำนวนมากทั้งจากประเทศไทย จีน เวียดนาม มาเลเซียและประเทศใกล้เคียงอื่นๆ
สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยที่มาเที่ยวกันแบบเป็นครอบครัวหรือเป็นหมู่คณะและมีเวลามากพอ การขับรถส่วนตัวมาเองก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะให้ประสบการณ์อันน่าประทับใจแก่ท่านอย่างแน่นอน โดยเฉพาะประเทศไทยและประเทศสปป.ลาว มีพรมแดนที่ติดต่อกันเป็นระยะทางยาวถึง 1,810 กิโลเมตร ประกอบด้วย 11 จังหวัดของไทย ได้แก่ เชียงราย,พะเยา,น่าน,อุตรดิตถ์,พิษณุโลก,เลย,หนองคาย,นครพนม,อำนาจเจริญ,มุกดาหารและอุบลราชธานี และ 9 แขวงของลาวได้แก่ แขวงบ่อแก้ว,แขวงไซยะบุรี,แขวงเวียงจันทน์,นครหลวงเวียงจันทน์,แขวงบอลิคำไซ,แขวงคำม่วน,แขวงสะหวันนะเขต,แขวงสาละวันและแขวงจำปาสัก มีจุดผ่านแดนที่สามารถนำรถเข้ามาท่องเที่ยวจากภาคเหนือจรดภาคใต้ของประเทศ สปป.ลาวมี 7 จุดด้วยกัน แต่ในที่นี้จะแนะนำเส้นทางที่นิยมขับรถเข้ามาเพื่อท่องเที่ยวเมือง หลวงพระบาง เท่านั้น ซึ่งจะเป็นเส้นทางที่เปิดเป็นจุดผ่านแดนอย่างเป็นทางการมี 3 เส้นทาง ซึ่งอยู่ทางภาคอีสานตอนบนไปจรดภาคเหนือของไทย คือ
1.ด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 1 (เส้นสีแดงในแผนที่ map 1) บ้านจอมมณี ต.มีชัย จ. หนองคาย อยู่ตรงข้ามกับนครหลวงเวียงจันทน์ (เมืองหลวงของประเทศสปป.ลาว)
การเดินทาง
จาก กรุงเทพฯ ท่านสามารถขับรถไปตามทางหลวงหมายเลข 1 (ถ.พหลโยธิน) ผ่าน จ.สระบุรี
เลี้ยวขวาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 2 (ถ.มิตรภาพ) มุ่งหน้าไปทาง จ.นครราชสีมา ผ่าน จ.ขอนแก่น จ.อุดรธานี
และจ.หนองคาย รวมระยะทางจากกรุงเทพฯ ประมาณ 615 กิโลเมตร
จากนั้นตรวจเอกสารการเดินทางและเอกสารรถที่ด่านตม.สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 1 แล้วขับข้ามสะพานมิตรภาพสู่ เมืองท่านาแล้ง มุ่งหน้าไปยังตัว เมืองนครหลวงเวียงจันทน์ (เมืองหลวงของประเทศ สปป.ลาว)
ระยะทางจากด่านสะพานมิตรภาพ – ตัวเมืองเวียงจันทน์ประมาณ 20 กิโลเมตร
แล้วใช้เส้นทาง ถ. T2 เลี้ยวซ้ายเข้าสู่เส้นทางหลวงหมายเลข 13 เหนือ ผ่าน ตลาดสีไค ทางแยกหลัก 52 ตัวเมืองวังเวียง เมืองกาสี (จอดแวะรับประทานอาหารที่นี่) เมืองพูคูน เมืองกิ่วกะจำ เมืองเชียงเงินและปลายทางที่แขวงหลวงพระบาง ซึ่งตลอดเส้นทางจาก เมืองกาสีไปจนถึง แขวงหลวงพระบาง จะเป็นการขับรถบนภูเขาสูงเส้นทางคดเคี้ยวสวยงามผ่านโค้งต่างๆมากกว่า 4,000 โค้ง จุดสูงสุดของเส้นทางบนเขาบางช่วงจะมีความสูงกว่า 2,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล การขับรถจึงต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ และหากท่านป็นคนเมารถควรทานยาแก้เมารถป้องกันไว้ก่อนเพื่อจะได้ชื่นชมกับธรรมชาติ 2 ข้างทางอย่างมีความสุข
รวมระยะทางทั้งสิ้นจากเวียงจันทน์ 390 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 8 ชั่วโมง
2.ด่านสะพานมิตรภาพน้ำเหือง อยู่บ้านนากระเซ็ง ต.อาฮี อ.ท่าลี่ จ. เลย (เส้นสีน้ำเงินในแผนที่ map 1) อยู่ตรงข้ามกับ บ้านเมืองหมอใต้ เมืองแก่นท้าวซึ่งอยู่ทางใต้ของเมืองไซยะบุรีของประเทศสปป.ลาว
การเดินทาง
จาก กรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 (ถ.พหลโยธิน) ผ่านจ.สระบุรี ตรงเข้าเส้นทางหลวงหมายเลข 21 ผ่าน
จ.เพชรบูรณ์ ต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 203 (เส้นสีชมพูใน map 2) ผ่าน อ.หล่มสัก หล่มเก่า เข้าเขต จ.เลย ที่ อ.ด่านซ้าย อ.ภูเรือ ถึงตัวเมืองใช้ระยะเวลาเดินทางประมาณ 7-8 ชั่วโมง หรือ จาก สระบุรี ใช้ทางหลวงหมายเลข 2 (ถ.มิตรภาพ) ผ่านจ.นครราชสีมา ถึง จ.ขอนแก่น แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 12 ผ่าน อำเภอชุมแพ แล้วใช้เส้นทางหมายเลข 201 เข้าเขต จ.เลย ที่ อำเภอภูกระดึง อำเภอวังสะพุง ถึงตัวเมืองจ.เลย ได้เช่นเดียวกัน จากตัวเมือง จ.เลย ขับรถไปตามทางหลวงหมายเลข 2115 เข้าสู่ อ.ท่าลี่ และต.หนองผือ (map 3)
เพื่อข้ามสะพานมิตรภาพน้ำเหืองไทย-ลาว สู่ บ้านเมืองหมอใต้ จากสะพานมิตรภาพน้ำเหือง 2 กิโลเมตรแรกจะเป็นถนนลาดยางต่อจากนั้นจะเป็นถนนลูกรังไปตลอดเส้นทาง ขับรถไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 4 ผ่าน เมืองแก้วท้าว และเมืองปากลาย (ควรแวะรับประทานอาหารที่นี่) จนกระทั่งถึง แขวงไซยะบุรี เส้นทางรถวิ่งจะเป็นที่ราบและเนินเขาสลับกันไป ผ่านหมู่บ้านชาวเขาและทิวทัศน์ 2 ข้างทางที่สวยงาม ระยะทางจากด่าน ตม.ถึงเมืองไซยะบุรีรวม 250 กม. จากนั้นจะต้องนำรถข้ามแพขนานยนต์ (ท่าเรือบั๊ค) เพื่อจะข้ามแม่น้ำโขงที่ เมืองปากคอน (ควรเดินทางมาถึงที่นี่ไม่เกิน 19.00 น. เพราะแพขนานยนต์จะหยุดให้บริการ มิฉะนั้นท่านจะต้องค้างคืนที่นี่ 1 คืนรุ่งเช้าจึงจะเดินทางต่อไปได้)
ราคาค่านำรถข้ามแพขนานยนต์ 30,000 กีบ/คัน ระยะทางจากเมืองไซยะบุรีถึงเมืองปากคอน รวม 30 กม.
จากนั้นจะผ่าน เมืองนาน ซึ่งเส้นทางค่อนข้างสูงชันเพราะเป็นช่วงเขาที่สูงที่สุดของเส้นทางนี้ และ เมืองเชียงเงิน เพื่อเดินทางต่อมายัง เมืองหลวงพระบาง ตลอดเส้นทางหลังจากข้ามแพจะไม่มีโรงแรมหรือที่พักดังนั้นจะต้องมุ่งหน้าเพื่อไปพักที่ตัวเมืองหลวงพระบางเท่านั้นระยะทางจากจุดข้ามแพริมแม่น้ำโขงถึงหลวงพระบางประมาณ 85 กม. ตลอดเส้นทางท่านสามารถแวะร้านอาหาร,ห้องน้ำ,ปั๊มน้ำมันได้ 3 จุด คือที่เมืองปากลาย เมืองไซยะบุรีและเมืองเชียงเงินเท่านั้น
**หมายเหตุ** การเดินทางมาหลวงพระบางโดยใช้เส้นทางนี้ใช้ระยะเวลาในการเดินทางจากสะพานมิตรภาพน้ำเหืองถึงเมืองหลวงพระบางประมาณ 8 ชั่วโมงรวมระยะทาง 365 กิโลเมตร ควรเดินทางเป็นคณะหรือมีรถร่วมเดินทางเพราะสภาพข้างทางเป็นป่าหนาทึบและภูเขา นานๆทีถึงจะเจอหมู่บ้าน หากรถท่านเสียก็สามารถจะช่วยเหลือกันได้ และควรใช้รถแบบขับเคลื่อน 4 ล้อ เนื่องจากทางเป็นถนนลูกรังทั้งหมด บางช่วงมีฝุ่นหนาทึบ ความเร็วที่ใช้ได้ไม่เกิน 30 กม./ชั่วโมง
งดเดินทางในช่วงหน้าฝนเพราะถึงจะเป็นรถแบบขับเคลื่อน 4 ล้อแล้วเอาโซ่พันไว้รอบล้อก็ยังไปไม่รอด หากเป็นวันเสาร์-อาทิตย์ ท่านจะต้องเสียค่าล่วงเวลาทำงานให้เจ้าหน้าที่ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองฝั่งลาว เพิ่มอีกคนละ 5,000 กีบ (ประมาณ 20 บาท)
3.ด่าน อ.เชียงของ จังหวัดเชียงราย (เส้นสีเหลืองในแผนที่ map 1) อยู่ตรงข้ามกับบ้านห้วยทราย แขวงบ่อแก้วของประเทศสปป.ลาว
การเดินทาง
จาก กรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 (ถ.พหลโยธิน) ผ่านจังหวัด อยุธยา สระบุรี ลพบุรี นครสวรรค์ ตาก ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ ผ่านตัวเมือง จ.เชียงราย ระยะทางจากกรุงเทพถึงตัวเมืองจ.เชียงราย ประมาณ 785 กม.
จากตัวเมือง เชียงราย ขับต่อไปทางเหนือมุ่งหน้าสู่ อ.แม่จัน จากนั้นจึงเลี้ยวขวาเพื่อใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1016 ผ่าน
อ.เชียงแสน ระยะทางจาก อ.เมืองเชียงราย-อ.เชียงแสน ประมาณ 60 กม.
สามเหลี่ยมทองคำลัดเลาะไปตามเส้นทางริมแม่น้ำโขงที่สวยงาม ผ่านไร่นาสวนส้มและบ้าน หาดบ้าย ซึ่งเป็นหมูบ้านทอผ้าของชาวไทยภูเขาเผ่าลื้อ และ อ.เชียงของ โดยใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1129 ระยะทางจาก อ.เมืองเชียงราย – อ.เชียงของ ประมาณ 114 กม.รวมระยะทางจากกรุงเทพ ถึง อ.เชียงของ ประมาณ 930 กิโลเมตร
จากเส้นทางหลวงหมายเลข 1129 เดินทางถึง อ.เชียงของ เลี้ยวซ้ายนำรถไปผ่านพิธีการเสียภาษีและนำรถข้ามแดนที่บริเวณ ท่าเรือบั๊ค (ในวงสีแดง) เพื่อจะนำรถข้ามแพขนานยนต์ไปยัง เมืองห้วยทรายแขวงบ่อแก้วประเทศ สปป.ลาวจาก เมืองห้วยทรายจะต้องขับรถย้อนขึ้นไปทางเหนือผ่าน แขวงหลวงน้ำทา รวมระยะทาง ห้วยทราย-หลวงน้ำทา 158 กิโลเมตร
จาก แขวงหลวงน้ำทา ผ่าน แขวงอุดมไซ รวมระยะทาง หลวงน้ำทา – อุดมไซ 128 กิโลเมตร
และปลายทางที่ แขวงหลวงพระบาง รวมระยะทาง อุดมไซ-หลวงพระบาง ประมาณ 200 กิโลเมตร
สภาพเส้นทางเป็นถนนลาดยางเลาะไปตามที่ราบเชิงเขาตลอดทั้งสาย (ใน map1 เป็นเส้นสีเหลือง)
เรียบเรียงโดย www.hotelandresortthailand.com