สถานที่ท่องเที่ยว จ.กาญจนบุรี สะพานมอญ สังขละบุรี

          1

          สะพานมอญ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สะพานอุตตมานุสรณ์​ เป็นสะพานไม้ข้ามแม่น้ำซองกาเลียไปยังหมู่บ้านมอญ ถือเป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย และเป็นอันดับสองของโลกรองจากสะพานไม้อูเบ็งในพม่า และเป็นสัญลักษณ์ของอำเภอสังขละบุรี เป็นสะพานแห่งศรัทธา ที่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของชุมชนที่อาศัยอยู่ในสังขละบุรี ทุกปีจะมีนักท่องเที่ยวมาสัมผัสธรรมชาติ พร้อมๆ กับการได้เห็นวิถีชีวิตชุมชนชาวมอญในแถบนี้ สิ่งที่ห้ามพลาดอีกอย่างหนึ่งก็คือการได้ถ่ายรูปเป็นที่ระลึก กับสะพานที่เสมือนเป็นสายใยวัฒนธรรมของชาวมอญและไทยในดินแดนสุดขอบประเทศแห่งนี้

3

          การเที่ยวชมสะพานมอญ ควรแวะเดินชมตั้งแต่เช้า โดยเฉพาะช่วงเวลา 6.00 – 7.00 น. เป็นช่วงที่ได้เห็นวิถีชีวิตชาวมอญ ใส่บาตรพระทุกเช้า หากนักท่องเที่ยวต้องการใส่บาตร ก็มีอาหารขายบริเวณหมู่บ้านมอญ สายๆ หากเดินข้ามฝั่งไปยังหมู่บ้านมอญ ก็สามารถเที่ยวชมบ้านเรือนในแบบชาวมอญ ซื้อของที่ระลึก หรือจะแวะชิมขนมจีนน้ำยาหยวกกล้วย ที่เป็นอาหารพื้นบ้านชาวมอญก็ได้

2

วิถีชีวิตชาวมอญที่พบเห็นได้บริเวณสะพานมอญ และหมู่บ้านมอญ
เมื่อความเจริญค่อยๆ คืบคลานเข้าสู่หมู่บ้านมอญ การเดินทางมีความสะดวกสบายขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น มีธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาในสังคม ทำให้วิถีชีวิตชาวมอญเปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งแวดล้อมใหม่ที่แทรกซึมเข้ามาสู่ชุมชน แต่ก็ยังได้เห็นกลิ่นไอความเป็นมอญบางอย่างหลงเหลืออยู่บ้้าง แต่ละครอบครัวในหมู่บ้านมอญ ส่วนใหญ่คนหนุ่มสาว จะเข้าไปรับจ้างทำงานในตัวเมือง เราจึงมักเห็นการดำเนินชีวิตประจำวันแบบมอญของเด็กๆ และผู้สูงวัย มากกว่าวัยรุ่น

นักท่องเที่ยวที่มาสังขละบุรีจึงอาจจะได้เห็นลักษณะความเป็นมอญบางอย่างที่หลงเหลืองอยู่

 – กิจวัตรประจำวันของชาวมอญ ที่นักท่องเที่ยวสนใจกันเป็นอย่างมาก คือการใส่บาตรในช่วงเช้า โดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่ที่จะตื่นแต่เช้า นำขันใส่ข้าวสวยมานั่งรอบนพื้นถนนเป็นแถว เพื่อรอพระมาบิณฑบาตร ชาวบ้านมักจะใส่บาตรด้วยข้าวสวย และดอกไม้ และกราบพระลงกับพื้นถนน ซึ่งเป็นภาพที่น่าประทับใจสำหรับนักท่องเที่ยว หากใครต้องการใส่บาตร ก็สามารถร่วมใส่บาตรตอนเช้ากับชาวมอญได้ เพราะมีชุดสำหรับใส่บาตรจำหน่ายให้นักท่องเที่ยวด้วย

ตักบาตร

 – จะได้เห็นวัฒนธรรมการเทินของไว้บนหัวของชาวมอญ ซึ่งบางคนยังคงนิยมเทินสิ่งของไว้บนหัว แทนการห้ิวสัมภาระมากมาย บางคนสามารถเทินของได้สูงๆ หรือหนักมากๆ แล้วยังสามารถเดินได้อย่างคล่องแคล่ว 

เทินของไว้หัว

ได้เห็นวัฒนธรรมการแต่งกายของชาวมอญ สังเกตได้จากการแต่งกายโดยทั่วไปแล้ว ผู้หญิงจะนุ่งผ้าซิ่น หรือผ้าถุง เสื้อแขนกระบอกสามส่วน มีผ้าแถบยาวเหมือนสไบพาดไว้ที่บ่า ผมรวมมัดเป็นมวยไว้ด้านหลัง ผู้ชายนิยมนุ่งโสร่ง บนใบหน้าของหญิงชายชาวมอญ รวมถึงเด็กๆ นิยมทาแป้งทานาคา ที่มีสีออกเหลืองนวลๆ ฉาบไว้ที่ใบหน้า (แป้งทานาคาทำจากท่อนไม้ต้นทานาคาฝนกับแป้นหินทราย ทาบนหน้าแล้วเกลี่ยด้วยแปรง)

sk12

ในหน้าร้อน บริเวณสะพานมอญ เหมือนเป็นสวนน้ำสำหรับเด็กๆ จะมีเด็ก มาเล่นน้ำใสๆ ในแม่น้ำซองกาเลีย และกระโดดน้ำจากสะพานมอญ

เล่นน้ำ

เดิมบ้านของชาวมอญมักปลูกสร้างด้วยไม้กระดาน หรือเป็นไม้ไผ่สานขัดแตะ ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปเป็นสร้างด้วยปูนบ้างแล้ว แต่ก็ยังมีบางบ้านที่ยังคงสภาพเดิมๆ ไว้ ให้เห็นถึงความเป็นบ้านมอญ ถ้าสังเกตดีๆ บ้านมอญมักจะมีผนังด้านหนึ่ง ทำเป็นเหมือนส่วนเกินยื่นออกมาคล้ายมุขหน้าต่าง นูนเป็นกล่องตรงผนังบ้าน มุขที่ว่านี้ก็คือ ห้องพระ หรือหิ้งพระของบ้าน บางบ้านจะตกแต่งส่วนของมุขนี้ไว้อย่างสวยงาม

 1375163756-12-o

สถานที่ท่องเที่ยวใกล้สะพานมอญ

ตลาดวัดวังก์  อยู่ห่างไปประมาณ 1 กิโลเมตร เดินข้ามสะพานมอญไป แล้วเดินผ่านหมู่บ้านชาวมอญ จนถึงถนนเส้นหลัก ข้ามถนนไปตลาดอยู่เยื้องๆ ไปทางซ้ายมือ

1ตลาดวัดวังก์

วัดวังก์วิเวการาม  อยู่ห่างไปประมาณ 2.7 กิโลเมตร

1วัดวังก์การาม

เจดีย์พุทธคยา  อยู่ห่างไปประมาณ 2.5 กิโลเมตร

 สังขละบุรี

ข้อแนะนำ
– นักท่องเที่ยวนิยมมาเที่ยวชมวิว และสัมผัสอากาศเย็นในช่วงเข้าฤดูหนาว ประมาณเดือน พฤศจิกายน-มกราคม ตอนเช้าจะได้สัมผัสไอหมอกที่ปกคลุมบนท้องน้ำและยอดเขา

– การเที่ยวชมสะพานไม้มอญ มักจะเป็นช่วงเช้าหรือช่วงเย็น และหัวค่ำ ช่วงกลางวันแดดค่อนข้างร้อน

– หากต้องการร่วมใส่บาตรบริเวณสะพานไม้มอญ ควรไปถึงบริเวณสะพานก่อน 6.00 น. การใส่บาตรจะอยู่ฝั่งหมู่บ้านมอญ มีร้านค้าจำหน่ายของใส่บาตรไว้เป็นชุดๆ จำหน่ายชุดละ 99 บาท (สามารถโทรติดต่อสอบถาม หรือสั่งจองได้ที่ ร้านป้าหยิน โทร. 08-1792-4244, 09-0794-2448)

– บริเวณสะพานมอญ (ฝั่งหมู่บ้านมอญ) มีที่บริการจอดรถ เลี้ยวเข้าซอยสะพานไม้ สุดซอยซ้ายมือมีที่จอดรถแบบเก็บค่าบริการ (20 บาท)

 การเดินทางไปสะพานมอญ สะพานมอญมีสองฝั่ง ฝั่งนึงอยู่ห่างจากตัวเมืองสังขละบุรีไปประมาณ 1.5 กิโลเมตร หากขับรถไปฝั่งหมู่บ้านมอญระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร

รถยนต์
กรุงเทพฯ – อำเภอสังขละบุรี 360 กิโลเมตร
ตัวจังหวัดกาญจนบุรี – อำเภอสังขละบุรี 215 กิโลเมตร
อำเภอทองผาภูมิ – อำเภอสังขละบุรี 75 กิโลเมตร
ตัวอำเภอสังขละบุรี – สะพานมอญ 5 กิโลเมตร

จากตัวเมืองกาญจนบุรี วิ่งบนถนนแสงชูโตที่เป็นถนนสายหลัก ถึงสี่แยกแก่งเสี้ยน เลี้ยวซ้ายไปตามป้ายอำเภอไทรโยค – ทองผาภูมิ (ทางหลวงหมายเลข 323)

ก่อนเข้าตัวอำเภอทองผาภูมิ มีสามแยก เลี้ยวขวาไปทางอำเภอสังขละบุรี (ด่านเจดีย์สามองค์) ผ่านวัดท่าขนุน ป้อมปี่ อุทยานแห่งชาติเขาแหลม สะพานข้ามแม่น้ำรันตี

ก่อนเข้าตัวอำเภอสังขละบุรี มีทางแยก ตรงไปทางอำเภอสังขละบุรี (จะมีป้ายบอกเป็นทางไปวัดวังก์วิเวการาม) วิ่งผ่านตัวอำเภอสังขละบุรี ข้ามสะพานซองกาเลีย แล้วจึงจะมีป้ายบอกเลี้ยวซ้ายเข้าซอยสะพานไม้ สุดซอยจะเป็นสะพานอุตตมานุสรณ์ (สะพานมอญ) สุดซอยซ้ายมือจะมีที่สำหรับจอดรถแบบเสียค่าจอด (ประมาณ 20 บาท)

รถประจำทาง
1.นั่งรถทัวร์ กรุงเทพฯ ด่านเจดีย์สามองค์ จากสถานีขนส่งสายเหนือ หมอชิต 2 มี 4 เที่ยว คือ
รถปอ. 1   : เวลา 5.00 น. และ 6.00 น. ราคา 293 บาท
รถปอ. 2   : เวลา 9.30 น. และ 12.30 น. ราคา 228 บาท
รถทัวร์ขากลับ ด่านเจดีย์สามองค์ กรุงเทพฯ
รถปอ. 1   : เวลา 13.30 น. และ 14.30 น. ราคา 293 บาท
รถปอ. 2   : เวลา 7.00 น. และ 10.00 น. ราคา 228 บาท

** บอกคนขับว่าต้องการลงสังขละบุรี รถจะไปจอดให้ที่ตลาดสังขละ จากนั้นเดินต่อ หรือเหมารถไปสะพานมอญ

2.นั่งรถทัวร์ หรือรถตู้ กรุงเทพฯ กาญจนบุรี จากสายใต้ หรือหมอชิต แล้วต่อรถที่ขนส่งกาญจนบุรี ไปสังขละบุรี จากนั้นเดินต่อ หรือเหมารถไปสะพานมอญ

ข้อมูลจากเว็บ   Kanchanaburi

เรียบเรียงโดย www.HotelAndResortThailand.com