โครงการหลวงอันเกิดจากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งที่ทรงเสด็จเยี่ยมราษฎรในเขตพื้นที่ต่างๆ ได้เล็งเห็นถึงความยากลำบากของราษฎร จึงเกิดแนวพระราชดำริจัดตั้งโครงการหลวงขึ้น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงพัฒนาพื้นที่ทางการเกษตรของราษฎรให้ดียิ่งขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงวางรากฐานเอาไว้จนประสบความสำเร็จอย่างงดงาม
ปัจจุบันหลายพื้นที่โครงการหลวงในประเทศไทยได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม และยังสามารถท่องเที่ยวได้ตลอดทุกฤดูกาล ท่ามกลางป่าเขา ทุ่งนา น้ำตก ลำธาร และดอกไม้ ทำให้โครงการหลวงเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความสนใจและเหมาะแก่การเดินทางมาพักผ่อน ชื่นชมทัศนียภาพธรรมชาติที่สวยงดงาม วันนี้จึงได้รวบรวม 9 โครงการหลวงมาฝากกัน
1. สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ จ.เชียงใหม่
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงอินทนนท์ ได้ก่อกำเนิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2522 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จัดตั้ง เพื่อช่วยเหลือชาวเขาให้มีพื้นที่ทำมาหากินเป็นหลักแหล่ง ส่งเสริมการปลูกพืชแทนการปลูกฝิ่น ลดการทำไร่เลื่อนลอย ปรับปรุงความเป็นอยู่ของชาวเขาให้ดีขึ้น รวมถึงส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติป้องกันการบุกรุกทำลายป่าไม้ ต้นน้ำลำธาร ถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตรแผนใหม่เพื่อเพิ่มผลผลิตทางด้านการเกษตรให้สูงขึ้น นอกจากนี้สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ยังเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกเพศทุกวัยให้ได้มาเยี่ยมชมและศึกษาความงดงามของพื้นที่หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้จัดตั้งศูนย์แห่งนี้ขึ้น อาทิเช่น
- พระมหาธาตุนภเมทนีดลและพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ
- น้ำตกสิริภูมิ หรือ สวนหลวงสิริภูมิ ที่ตั้งอยู่ภายในสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ โดยบริเวณหน้าน้ำตกสิริภูมิมีสวนธรรมชาติตกแต่งด้วยพรรณไม้ต่างๆ นานาตลอดเส้นทางศึกษาธรรมชาติ
- ชมวิถีชีวิต, การแต่งกาย, การละเล่นของชาวเขาเผ่าม้ง และเลือกซื้อสินค้าท้องถิ่น งานหัตถกรรมที่ตลาดม้ง
- โรงเรือนรวบรวมและจัดแสดงพืชกินสัตว์ที่เหมาะกับสภาพอากาศบนพื้นที่สูง เช่น หม้อข้าวหม้อแกงลิง พิงกุย ซาราซีเนียชนิดต่างๆ เป็นต้น
- โรงเรือนจัดแสดงพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับ เฟิร์นหายาก พืชกินสัตว์ และพืชกินแมลง ตลอดจนโรงเรือนผักไฮโรโปนิกส์ ผักเมืองหนาวประเภทสลัดด้วยวิธีปลูกแบบไร้ดิน
- ชมสวน 80 พรรษา ซึ่งจัดขึ้นเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา และเป็นสถานที่จัดแสดงขึ้นเพื่อรองรับการศึกษาดูงานเกี่ยวกับพรรณไม้ดอกเมืองหนาว โดยพรรณไม้ที่อยู่ในสวนเป็นการนำพรรณไม้ดอก ไม้ยืนต้นออกมาสาธิตในรูปแบบของการจัดภูมิทัศน์ให้สวยงาม ภายในสวนตกแต่งด้วยไม้ดอกเมืองหนาวนานาชนิด
- ชมสวนกุหลาบพันปี ที่ถือว่าเป็นราชินีบนยอดดอยซึ่งหาชมได้ยาก โดยสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ได้ทำการศึกษาและขยายพันธุ์กุหลาบฟันปีจำนวน 3 สายพันธุ์ ได้แก่ กลุ่มที่ 1 Rhododendron สีแดง, สีขาว กลุ่มที่ 2 Azalea เป็นพืชกลุ่มหนึ่งในตระกูล Rhododendron เป็นลูกผสมจากงานศึกษาค้นคว้า และทดสอบพันธุ์ และกลุ่มที่ 3 Vireyas เป็นพันธุ์ลูกผสม ซึ่งนำเข้ามาจากประเทศออสเตรเลีย
2. สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง จ.เชียงใหม่
สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง สภาพภูมิอากาศเย็นสบายตลอดปีสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,400 เมตร เป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของโครงกาหลวง จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า “ให้ช่วยเขา ช่วยตัวเอง” มีพระราชประสงค์ให้ชาวไทยภูเขาที่อาศัยอยู่ตามดอยต่างๆ ทางภาคเหนือเลิกปลูกฝิ่น และเลิกทำไร่เลื่อนลอย อันเป็นสาเหตุที่ทำให้ป่าไม้และต้นน้ำลำธารของประเทศถูกทำลาย จากเดิมที่เป็นดอยหัวโล้นได้แปรสภาพเป็นขุนเขาใหม่แห่งความอุดมสมบูรณ์ โดยทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาผักเมืองหนาวกว่า 60 ชนิด ไม้ผลกว่า 12 ชนิด และดอกไม้เมืองหนาวกว่า 20 ชนิด บนพื้นที่ 1,800 ไร่ บริเวณโดยรอบสถานีเกษตรหลวงอ่างขางแห่งนี้มีหมู่บ้านชาวเขากว่า 9 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านขอบด้ง บ้านนอแล บ้านหลวง บ้านปางม้า บ้านป่าคา บ้านคุ้ม บ้านผาแดง บ้านถ้ำง้อบ และบ้านสินชัย เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าจีนยูนนาน ไทใหญ่ มูเซอดำ และปะหล่อง อาศัยอยู่รวมกันในพื้นที่ โดยสถานีเกษตรหลวงอ่างขางได้เปิดให้เที่ยวชมศึกษาธรรมชาติและวิถีชีวิตในท้องถิ่น อาทิเช่น
- สัมผัสวิถีชีวิตชาวเขาหมู่บ้านต่างๆ โดยนักท่องเที่ยวสามารถขออนุญาตเจ้าของบ้านเข้าชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างใกล้ชิดได้
- แวะชิมชาท้องถิ่น และวิธีการสาธิตชงชา ได้ที่สถานที่แปรรูป
- ศึกษาเส้นทางธรรมชาติ ชมกุหลาบพันปี จะเบ่งบานพร้อมกันในช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ของทุกปี โดยห่างจากสถานีประมาณ 4.5 กิโลเมตร
- ชมสวนแปดสิบ เป็นสวนกลางแจ้งที่ตกแต่งสไตล์อังกฤษ มีดอกไม้ ไม้ประดับปลูกหมุนเวียนตลอดทั้งปี ด้านบนยังมีลานต้นซากุระญี่ปุ่นที่พร้อมเบ่งบานช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม
- ชมสวนหอม เป็นสวนที่รวบรวมพันธุ์ไม้ที่มีกลิ่นหอมทั้งในและต่างประเทศ เช่น ต้นหอมหมื่นลี้ มะลิเนปาล ลาเวนเดอร์ ถ้าได้เดินผ่านสวนจะรู้สึกได้กลิ่นหอมจากพรรณไม้เหล่านั้นในสวน
- ชมสวนบอนไซอ่างขาง ที่จัดแสดงพันธุ์ไม้หลากชนิดตั้งแต่ยุคแรกเริ่มก่อตั้งสถานีในรูปแบบการปลูกเลี้ยงในกระถางแบบบอนไซ นอกจากนี้ยังมีพืชทนแล้ง พืชกินแมลง และสวนหินธรรมชาติจุดชมวิวภายในสถานี
- ชมแปลงไม้ผลตามฤดูกาลหลากหลายตลอดทั้งปี เช่น พีช พลับ สาลี กีวี่ เป็นต้น
- ชมแปลงบ๊วย โดยต้นบ๊วยที่ปลูกตั้งแต่เริ่มก่อตั้งโครงการหลวงปัจจุบันได้แตกกิ่งก้านสาขาให้ร่มเงาเย็นสบาย
- ชมโรงเรือนดอกไม้ สวนไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาว โรงเรือนกุหลาบตัดดอกซึ่งรวบรวมกุหลาบชนิดตัดดอกสายพันธุ์ต่าง ๆ จากประเทศเนเธอร์แลนด์ โรงเรือนรวบรวมพันธุ์ผัก ผักเมืองหนาวหลากหลายชนิด รวมถึงพืชสมุนไพรของโครงการหลวงต่างๆ มากมาย
- ชมหิ่งห้อยยามค่ำคืนที่แปลงพีชฝั่งตรงข้ามสวนบอนไซตลอดจนถึงลานจอดเฮลิคอปเตอร์ โดยสามารถชมได้ทุกปีในช่วงเดือนมีนาคม
3. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปางอุ๋ง จ.เชียงใหม่
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปางอุ๋ง ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ครอบคลุมพื้นที่ถึง 17 หมู่บ้าน 1,061 ครัวเรือน ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่าม้งและกะเหรี่ยง ซึ่งก่อตั้งหมู่บ้านมานานกว่า 50 ปี ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน พื้นที่ราบอยู่ตามหุบเขา มีต้นน้ำสายสำคัญไหลผ่านคือ ลำน้ำแม่หยอดและลำน้ำปางเกี๊ยะ นอกจากธรรมชาติที่สวยงดงามแล้วนักท่องเที่ยวยังสามารถเรียนรู้และใกล้ชิดกับวิถีชีวิตที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปางอุ๋งได้อีกด้วย อาทิเช่น
- ชมแปลงปลูกมันฝรั่ง แครอท อะโวกาโด แปลงสาธิตกาแฟอาราบิก้า แปลงสาธิตองุ่นไร้เมล็ด แปลงสาธิตพืชผัก เช่น มะเขือเทศ กะหล่ำปลี ฯลฯ
- ชมวิถีชีวิตและการละเล่นของชาวเขาเผ่าม้ง เช่น ลูกข่างไม้ โยนลูกช่วง ตีลูกข่าง ล้อเลื่อนไม้ เป่าแคนม้ง เป็นต้น
- ชมทุ่งดอกบัวตองที่ดอยแม่อูคอ อำเภอขุนยวม ห่างจากที่ตั้งศูนย์ฯประมาณ 40 กิโลเมตร โดยดอกบัวตองจะบานช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี
- แอดเวนเจอร์กับเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติดอยหมื่อกาโด่ เป็นเส้นทางชมพรรณไม้ป่า กุหลาบพันปี ดูนก เลียงผา และจุดชมวิวทะเลหมอกที่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,927 เมตร
4. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งหลวง จ.เชียงใหม่
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งหลวง ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2522 ด้วยแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เล็งเห็นถึงปัญหาอันเกิดจากความขาดแคลนปัจจัยในการดำรงชีพและขาดการสนับสนุนด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านอาชีพที่ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาดูแลให้ความรู้ทางด้านเกษตรกรรม จึงได้มีการมุ่งเน้นการพัฒนาด้านอาชีพทางด้านการเกษตร เพื่อนำรายได้เข้าสู่ชุมชน ยับยั้งการปลูกฝิ่นและลดปัญหาการบุกรุกป่าทำไรเลื่อนลอย โดยศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งหลวงแห่งนี้ตั้งอยู่ในหุบเขา มีทัศนีภาพที่สวยงดงามเป็นพิเศษเหมาะแก่การทำนาและปลูกพืช ส่วนพื้นที่ลาดเชิงเขาเหมาะแก่การปลูกพืชไร่และผลไม้ ประชากรในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงและม้ง นับถือศาสนาพุทธและคริสต์ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งหลวงนี้มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมาย อาทิเช่น
- ชมแปลงสาธิตการผลิตพืชผัก ไม้ดอก ไม้ผลตามฤดูกาล ไม่ว่าจะเป็นกะหล่ำปลี ผักกาดขาวปลี ผักกาดหอมห่อ แครอท เบบี้แครอท องุ่น กีวี พลับ พลัม เป็นต้น
- เที่ยวชมน้ำตกห้วยกระแส ซึ่งจะได้สัมผัสกับป่าสนเขา ถึงแม้จะมีปริมาณน้ำไม่มากแต่ก็มีน้ำไหลรินชุ่มชื่นตลอดทั้งปี โดยเดินทางจากศูนย์ฯประมาณ 5 กิโลเมตร และเดินเท้าอีกประมาณ 1 กิโลเมตร
- เที่ยวน้ำตกบ้านโป่งสมิต ที่ต้องเดินเท้าผ่านทุ่งนาเพื่อชมวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยง การทำนา และปลูกพืชแบบนาขั้นบันได หรือไหว้พระที่วัดพระธาตุศรีสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ สามารถไปนมัสการพระธาตุได้ตลอดทั้งปี และชื่นชมวิวทิวทัศน์ที่สวยงามโดยรอบ
- เที่ยวปางช้างแม่วิน เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีกิจกรรมการล่องแพ ขี่ช้างตามลำน้ำแม่วาง ซึ่งตั้งห่างจากศูนย์ฯประมาณ 15 กิโลเมตร
5. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก จ.เชียงใหม่
หมู่บ้านเล็กๆ ที่ห่างไกลความเจริญ ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม รายได้น้อย ความเป็นอยู่ค่อนข้างยากลำบาก จนกระทั่งปี พ.ศ. 2524 สายพระเนตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงห่วงใยราษฎร พระองค์ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์ในการก่อตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก โดยมีเป้าหมายให้เป็นศูนย์สาธิตและส่งเสริมการเพาะเห็ดและกาแฟพันธุ์อาราบิก้า ให้แก่ราษฎรนอกเหนือจากการปลูกเมี่ยง การรับรู้รับฟังตลอดจนสร้างความเข้าใจให้กับชาวบ้าน ร่วมกันสร้างสรรค์ประสบการณ์ใหม่ๆ ในการดำรงชีวิต ทำให้ชาวบ้านก้าวสู่ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามลำดับ โดยศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าดิบเขาและป่าเบญจพรรณ ครอบคลุมพื้นที่ 4 หมู่บ้าน คือ บ้านป๊อก บ้านแม่ลาย บ้านแม่กำปอง และบ้านธารทอง ประชากรเป็นคนเมืองทั้งสิ้น ผู้ที่ได้เดินทางมาที่นี่สามารถชื่นชมธรรมชาติและเพลิดเพลินกับกิจกรรมภายในศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก อาทิเช่น
- ชมโรงเรือนกล้วยไม้ฟาแลนนอปซิสหมากสีสัน
- ชมแหล่งผลิตกาแฟอาราบิก้าคุณภาพดีของโครงการหลวงฯ ที่ล้อมรอบด้วยธรรมชาติป่าไม้ และลำน้ำจากน้ำตก
- ชมชุมชนคนเมืองที่มีชื่อเสียงในด้านการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน “บ้านแม่กำปอง” ซึ่งเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงกันดีว่าเป็นบริการที่พักแบบ Home Stay ติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศไทย
- ชมวิถีชีวิตพื้นเมืองหมู่บ้าน ชมการทำสวนเมี่ยง หมัก-นึ่งเมี่ยงแบบดั้งเดิม และเส้นทางศึกษาธรรมชาติ รวมถึงสวนสมุนไพรต่างๆ ในท้องถิ่น
- ชมวิวดอยม่อนล้าน ชื่นชมธรรมชาติป่าไม้ ต้นกฤษณา กล้วยไม้ป่า และจุดชมดอกนางพญาเสือโคร่งบานและทะเลหมอกในช่วงฤดูหนาว พร้อมทั้งสามารถศึกษาเส้นทางที่เชื่อมไปถึงอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน จังหวัดลำปาง ได้อีกด้วย
6. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง จ.เชียงใหม่
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง ตั้งอยู่บนพื้นที่ของเทือกเขาสลับซับซ้อน สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,300 – 1,400 เมตร โดยศูนย์แห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2525 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปยังบ้านขุนวางเป็นครั้งแรก ได้ทอดพระเนตรเห็นว่า บริเวณแห่งนี้ยังมีการปลูกฝิ่นเป็นอย่างมาก ควรจะส่งเสริมการปลูกพืชชนิดอื่นที่มีรายได้ดีกว่าหรือทัดเทียมกับการปลูกฝิ่น จึงได้รับส่งให้หน่วยงานในพื้นที่ช่วยกันพิจารณา ปรับปรุง และพัฒนาพื้นที่ โดยเริ่มดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาด้านไม้ผลเป็นลำดับแรก ต่อมาจึงได้ขยายผลการดำเนินงานด้านไม้ดอก และส่งเสริมพัฒนาด้านสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม พร้อมทั้งส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติควบคู่ ในปัจจุบันศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง มีพื้นที่รับผิดชอบดำเนินงานถึง 499 ไร่ ครอบคลุมถึง 7 หมู่บ้านคือ บ้านขุนวาง บ้านป่ากล้วย บ้านโป่งลมแรง บ้านโป่งน้อยเก่า บ้านห้วยยาว และบ้านขุนแม่วาก นอกจากนี้ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวางยังมีบ้านพัก แคมป์ไฟ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ไว้ให้บริการสำหรับผู้ที่จะเดินทางมารับการเรียนรู้และท่องเที่ยวเชิงเกษตร วิถีชีวิตชนเผ่า และเยี่ยมชมธรรมชาติในพื้นที่ อาทิเช่น
- ชมโรงเรือนปลูกดอกเบญจมาศหลากหลายสีสัน ทั้งแบบดอกเดี่ยว ดอกช่อ และดอกลิเซียทัส คาร์เนชั่น ลิลลี่
- ชมโรงเรือนสาธิตการปลูกวานิลลา โดยจะออกฝักพร้อมเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนมีนาคม โรงเรือนเห็ดเมืองหนาว เช่น เห็ดโพโตเบลโล เห็ดแชมปิญอง เป็นต้น
- ชมแปลงปลูกชาจีนเบอร์ 12 พันธุ์หยวนจืออู่หลง พร้อมดูขั้นตอนการผลิตชาและลิ้มลองชิมชาอร่อยๆ
- ชมแปลงไม้ผล เช่น องุ่นไร้เมล็ด สตรอว์เบอร์รี่ พีช กีวี และบ๊วย รวมถึงแปลงปลูกผักเมืองหนาว เช่น บล็อกโคโลนี บล๊อคโคลี่ หอมญี่ปุ่น มะเขือเทศดอยคำ ผักกาดหวาน ถั่วหวาน เป็นต้น
7. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ จ.เชียงใหม่
หมู่บ้านแม่แฮและหมู่บ้านใกล้เคียง ในเขตตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง และตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง ม้ง และจีนยูนนาน ประกอบอาชีพทำนาทำไรแบบเลื่อนลอย ปลูกข้าวโพด ปลูกฝิ่น เลี้ยงสัตว์ตามธรรมชาติ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2521 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้พัฒนาอาชีพของชาวเขาหมู่บ้านแม่แฮและหมู่บ้านใกล้เคียงขึ้น โดยหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง ได้ขอให้สำนักเกษตรภาคเหนือเป็นผู้ดำเนินงานภายใต้ “โครงการหลวงพัฒนาเกษตรที่สูงแม่แฮ” ภายหลังก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ” โดยภายในศูนย์ฯ แห่งนี้ได้มีกิจกรรมที่น่าสนใจหลายจุดรอต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกท่านให้ได้แวะมาเยี่ยมเยือนกัน อาทิเช่น
- ชมแปลงสาธิตการผลิตพืชผักเมืองหนาว ได้แก่ กะหล่ำปลีแดง ผักกาดหวาน ผักกาดหอมห่อ และสาธิตการเพาะกล้าผักเมืองหนาวชนิดต่างๆ ชมแปลงสาธิตการผลิตไม้ผล ได้แก่ องุ่น สาลี่ กีวี พลับ เคพกูสเบอร์รี เป็นต้น
- ชมสวนสตอเบอรี่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ได้ที่บ้านบ่อแก้ว โดยจะเก็บผลผลิตได้ช่วงเดือนพฤศจิกายน – มีนาคม ของทุกปี
- ชมดอกซากุระบาน หรือที่เรียกอีกชื่อว่า นางพญาเสือโคร่ง ภายในพื้นที่ศูนย์ฯ ตลอดช่วงฤดูหนาวของทุกปี รวมถึงในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ของทุกปี สามารถชื่นชมดอกบัวตองบานริมถนนตลอดสายแม่เตียน-แม่แฮ-ป่าเกี๊ยะน้อย และถนนสายแม่แฮ-ห้วยขมิ้นนอก การเดินทางสะดวกสบายสามารถเดินทางโดยรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ได้
- ชมรอยพระบาท ที่คนในชุมชนเชื่อว่าเป็นรอยพระบาทของคนยุคสมัยโบราณซึ่งเห็นรอยมือและรอยเท้าได้อย่างชัดเจน พร้อมชมบ่อน้ำแร่จากธรรมชาติ
- ชมวิวทิวทัศน์จากศูนย์ฯ และยอดดอยที่เป็นจุดที่สูงที่สุดของพื้นที่คือ ดอยม่อนยะ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตบ้านห้วยน้ำจางและม่อนยะใต้ ตลอดเส้นทางสู่ยอดดอยนั้นจะได้สัมผัสกับทิวทัศน์ที่สวยงดงาม
8. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์ จ.เชียงใหม่
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ 19 หมู่บ้าน และพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน 2 หมู่บ้าน โดยมีพื้นที่รวมถึง 153,592 ไร่ ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่าปกากะญอ ซึ่งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์แห่งนี้ส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมปลูกพืชผัก และผลไม้เมืองหนาว เนื่องจากพื้นที่ภูมิประเทศเป็นพื้นที่ป่าสนและป่าเต็งรังขนาดใหญ่ จุดเด่นคือ ป่าสนธรรมชาติที่กว้างใหญ่กว่าแสนไร่ ถือเป็นป่าสนอายุกว่าร้อยปีผืนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งมีทั้งสนสองใบและสนสามใบ และสำหรับผู้ที่รักการผจญภัย ที่นี่ยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติ 2 เส้นทาง คือ เส้นทางที่ 1 ชมป่าสนสองใบ เป็นป่าสนธรรมชาติ มีกล้วยไม้ป่าและนกประจำถิ่นหลายชนิด และเส้นทางที่ 2 ชมป่าสนสามใบ มีพรรณไม้ป่าและนกหายากหลายชนิดอีกด้วย นอกจากนี้ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์ ยังมีกิจกรรมให้ได้ชื่นชมและสัมผัสกับธรรมชาติอีกมากมาย อาทิเช่น
- แปลงสาธิตผักของเกษตรกร เช่น ฟักทองมินิ ผักกาดขาว ซุกินี่ ไม้ผลเมืองหนาวตามฤดูกาล เช่น พลับ พลัม พีช บ๊วย สาลี่ เป็นต้น
- ชมงานส่งเสริมปศุสัตว์บนพื้นที่สูง เช่น กวาง แพะ กระต่าย ไก่หลากหลายสายพันธุ์ เป็นต้น
- ชมวิวทะเลหมอก ซึ่งอยู่ช่วงต่อระหว่างบ้านเด่น อำเภอกัลยานิวัฒนา กับบ้านห้วยตอง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน
- ชมต้น “หยาดน้ำค้าง” เป็นพืชกินแมลง มีต้นที่สวยงาม และหาพบได้ยาก
9. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า จ.พะเยา
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่าสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 640 เมตร โดยจัดตั้งศูนย์ฯขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2530 ดำเนินการบุกเบิกพื้นที่จัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ การจัดสรรพื้นที่ทำกิน และการส่งเสริมให้คนในพื้นที่ปลูกไม้ผลเมืองหนาว เนื่องจากลักษณะพื้นที่เป็นภูเขาสูงและเนินเขาสลับไปมา จึงมีลำน้ำสายสำคัญคือ ลำน้ำแม่คะ และลำน้ำเงิน ในการหล่อเลี้ยงชางเขาเผ่าเย้าและม้ง นักท่องเที่ยวสามารถเพลิดเพลินกับแปลงสาธิตการปลูกผักในโรงเรือน อาทิเช่น มะเขือเทศโทมัส, พริกหวาน, คะน้าฮ่องกง, คะน้ายอด, เบบี้ฮ่องเต้ ฯลฯ หรือชมแปลงสาธิตการปลูกไม้ผล อาทิเช่น อะโวคาโด, เสาวรสหวาน, มะม่วงนวลคำ, เคฟกูสเบอรรี่, แมคคาดีเมีย เป็นต้น
เรียบเรียงโดย : www.hotelandresortthailand.com