ตามรอยพ่อหลวง กับ 9 โครงการหลวงน่าเที่ยว

 

โครงการหลวงอันเกิดจากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งที่ทรงเสด็จเยี่ยมราษฎรในเขตพื้นที่ต่างๆ ได้เล็งเห็นถึงความยากลำบากของราษฎร จึงเกิดแนวพระราชดำริจัดตั้งโครงการหลวงขึ้น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงพัฒนาพื้นที่ทางการเกษตรของราษฎรให้ดียิ่งขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงวางรากฐานเอาไว้จนประสบความสำเร็จอย่างงดงาม

ปัจจุบันหลายพื้นที่โครงการหลวงในประเทศไทยได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม และยังสามารถท่องเที่ยวได้ตลอดทุกฤดูกาล ท่ามกลางป่าเขา ทุ่งนา น้ำตก ลำธาร และดอกไม้ ทำให้โครงการหลวงเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความสนใจและเหมาะแก่การเดินทางมาพักผ่อน ชื่นชมทัศนียภาพธรรมชาติที่สวยงดงาม วันนี้จึงได้รวบรวม 9 โครงการหลวงมาฝากกัน

 

1. สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ จ.เชียงใหม่

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงอินทนนท์ ได้ก่อกำเนิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2522 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จัดตั้ง เพื่อช่วยเหลือชาวเขาให้มีพื้นที่ทำมาหากินเป็นหลักแหล่ง ส่งเสริมการปลูกพืชแทนการปลูกฝิ่น ลดการทำไร่เลื่อนลอย ปรับปรุงความเป็นอยู่ของชาวเขาให้ดีขึ้น รวมถึงส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติป้องกันการบุกรุกทำลายป่าไม้ ต้นน้ำลำธาร ถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตรแผนใหม่เพื่อเพิ่มผลผลิตทางด้านการเกษตรให้สูงขึ้น นอกจากนี้สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ยังเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกเพศทุกวัยให้ได้มาเยี่ยมชมและศึกษาความงดงามของพื้นที่หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้จัดตั้งศูนย์แห่งนี้ขึ้น อาทิเช่น

  • พระมหาธาตุนภเมทนีดลและพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ
  • น้ำตกสิริภูมิ หรือ สวนหลวงสิริภูมิ ที่ตั้งอยู่ภายในสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ โดยบริเวณหน้าน้ำตกสิริภูมิมีสวนธรรมชาติตกแต่งด้วยพรรณไม้ต่างๆ นานาตลอดเส้นทางศึกษาธรรมชาติ
  • ชมวิถีชีวิต, การแต่งกาย, การละเล่นของชาวเขาเผ่าม้ง และเลือกซื้อสินค้าท้องถิ่น งานหัตถกรรมที่ตลาดม้ง
  • โรงเรือนรวบรวมและจัดแสดงพืชกินสัตว์ที่เหมาะกับสภาพอากาศบนพื้นที่สูง เช่น หม้อข้าวหม้อแกงลิง พิงกุย ซาราซีเนียชนิดต่างๆ เป็นต้น
  • โรงเรือนจัดแสดงพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับ เฟิร์นหายาก พืชกินสัตว์ และพืชกินแมลง ตลอดจนโรงเรือนผักไฮโรโปนิกส์ ผักเมืองหนาวประเภทสลัดด้วยวิธีปลูกแบบไร้ดิน
  • ชมสวน 80 พรรษา  ซึ่งจัดขึ้นเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา และเป็นสถานที่จัดแสดงขึ้นเพื่อรองรับการศึกษาดูงานเกี่ยวกับพรรณไม้ดอกเมืองหนาว โดยพรรณไม้ที่อยู่ในสวนเป็นการนำพรรณไม้ดอก ไม้ยืนต้นออกมาสาธิตในรูปแบบของการจัดภูมิทัศน์ให้สวยงาม ภายในสวนตกแต่งด้วยไม้ดอกเมืองหนาวนานาชนิด
  • ชมสวนกุหลาบพันปี ที่ถือว่าเป็นราชินีบนยอดดอยซึ่งหาชมได้ยาก โดยสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ได้ทำการศึกษาและขยายพันธุ์กุหลาบฟันปีจำนวน 3 สายพันธุ์ ได้แก่ กลุ่มที่ 1 Rhododendron สีแดง, สีขาว กลุ่มที่ 2 Azalea เป็นพืชกลุ่มหนึ่งในตระกูล Rhododendron เป็นลูกผสมจากงานศึกษาค้นคว้า และทดสอบพันธุ์ และกลุ่มที่ 3 Vireyas เป็นพันธุ์ลูกผสม ซึ่งนำเข้ามาจากประเทศออสเตรเลีย

 

1-1

1-2

1-3

1-4

1-6

1-7

1-8

1-9

1-10

1-11

 

2. สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง จ.เชียงใหม่

สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง สภาพภูมิอากาศเย็นสบายตลอดปีสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,400 เมตร เป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของโครงกาหลวง จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า “ให้ช่วยเขา ช่วยตัวเอง” มีพระราชประสงค์ให้ชาวไทยภูเขาที่อาศัยอยู่ตามดอยต่างๆ ทางภาคเหนือเลิกปลูกฝิ่น และเลิกทำไร่เลื่อนลอย อันเป็นสาเหตุที่ทำให้ป่าไม้และต้นน้ำลำธารของประเทศถูกทำลาย จากเดิมที่เป็นดอยหัวโล้นได้แปรสภาพเป็นขุนเขาใหม่แห่งความอุดมสมบูรณ์ โดยทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาผักเมืองหนาวกว่า 60 ชนิด ไม้ผลกว่า 12 ชนิด และดอกไม้เมืองหนาวกว่า 20 ชนิด บนพื้นที่ 1,800 ไร่ บริเวณโดยรอบสถานีเกษตรหลวงอ่างขางแห่งนี้มีหมู่บ้านชาวเขากว่า 9 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านขอบด้ง บ้านนอแล บ้านหลวง บ้านปางม้า บ้านป่าคา บ้านคุ้ม บ้านผาแดง บ้านถ้ำง้อบ และบ้านสินชัย เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าจีนยูนนาน ไทใหญ่ มูเซอดำ และปะหล่อง อาศัยอยู่รวมกันในพื้นที่ โดยสถานีเกษตรหลวงอ่างขางได้เปิดให้เที่ยวชมศึกษาธรรมชาติและวิถีชีวิตในท้องถิ่น อาทิเช่น

  • สัมผัสวิถีชีวิตชาวเขาหมู่บ้านต่างๆ โดยนักท่องเที่ยวสามารถขออนุญาตเจ้าของบ้านเข้าชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างใกล้ชิดได้
  • แวะชิมชาท้องถิ่น และวิธีการสาธิตชงชา ได้ที่สถานที่แปรรูป
  • ศึกษาเส้นทางธรรมชาติ ชมกุหลาบพันปี จะเบ่งบานพร้อมกันในช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ของทุกปี โดยห่างจากสถานีประมาณ 4.5 กิโลเมตร
  • ชมสวนแปดสิบ เป็นสวนกลางแจ้งที่ตกแต่งสไตล์อังกฤษ มีดอกไม้ ไม้ประดับปลูกหมุนเวียนตลอดทั้งปี ด้านบนยังมีลานต้นซากุระญี่ปุ่นที่พร้อมเบ่งบานช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม
  • ชมสวนหอม เป็นสวนที่รวบรวมพันธุ์ไม้ที่มีกลิ่นหอมทั้งในและต่างประเทศ เช่น ต้นหอมหมื่นลี้ มะลิเนปาล ลาเวนเดอร์ ถ้าได้เดินผ่านสวนจะรู้สึกได้กลิ่นหอมจากพรรณไม้เหล่านั้นในสวน
  • ชมสวนบอนไซอ่างขาง ที่จัดแสดงพันธุ์ไม้หลากชนิดตั้งแต่ยุคแรกเริ่มก่อตั้งสถานีในรูปแบบการปลูกเลี้ยงในกระถางแบบบอนไซ นอกจากนี้ยังมีพืชทนแล้ง พืชกินแมลง และสวนหินธรรมชาติจุดชมวิวภายในสถานี
  • ชมแปลงไม้ผลตามฤดูกาลหลากหลายตลอดทั้งปี เช่น พีช พลับ สาลี กีวี่ เป็นต้น
  • ชมแปลงบ๊วย โดยต้นบ๊วยที่ปลูกตั้งแต่เริ่มก่อตั้งโครงการหลวงปัจจุบันได้แตกกิ่งก้านสาขาให้ร่มเงาเย็นสบาย
  • ชมโรงเรือนดอกไม้ สวนไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาว โรงเรือนกุหลาบตัดดอกซึ่งรวบรวมกุหลาบชนิดตัดดอกสายพันธุ์ต่าง ๆ จากประเทศเนเธอร์แลนด์ โรงเรือนรวบรวมพันธุ์ผัก ผักเมืองหนาวหลากหลายชนิด รวมถึงพืชสมุนไพรของโครงการหลวงต่างๆ มากมาย
  • ชมหิ่งห้อยยามค่ำคืนที่แปลงพีชฝั่งตรงข้ามสวนบอนไซตลอดจนถึงลานจอดเฮลิคอปเตอร์ โดยสามารถชมได้ทุกปีในช่วงเดือนมีนาคม

 

2-1

2-2

2-3

2-4

2-5

2-6

2-7

2-8

2-9

2-10

2-11

 

3. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปางอุ๋ง จ.เชียงใหม่

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปางอุ๋ง ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ครอบคลุมพื้นที่ถึง 17 หมู่บ้าน 1,061 ครัวเรือน ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่าม้งและกะเหรี่ยง ซึ่งก่อตั้งหมู่บ้านมานานกว่า 50 ปี ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน พื้นที่ราบอยู่ตามหุบเขา มีต้นน้ำสายสำคัญไหลผ่านคือ ลำน้ำแม่หยอดและลำน้ำปางเกี๊ยะ นอกจากธรรมชาติที่สวยงดงามแล้วนักท่องเที่ยวยังสามารถเรียนรู้และใกล้ชิดกับวิถีชีวิตที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปางอุ๋งได้อีกด้วย อาทิเช่น

  • ชมแปลงปลูกมันฝรั่ง แครอท อะโวกาโด แปลงสาธิตกาแฟอาราบิก้า แปลงสาธิตองุ่นไร้เมล็ด แปลงสาธิตพืชผัก เช่น มะเขือเทศ กะหล่ำปลี ฯลฯ
  • ชมวิถีชีวิตและการละเล่นของชาวเขาเผ่าม้ง เช่น ลูกข่างไม้ โยนลูกช่วง ตีลูกข่าง ล้อเลื่อนไม้ เป่าแคนม้ง เป็นต้น
  • ชมทุ่งดอกบัวตองที่ดอยแม่อูคอ อำเภอขุนยวม ห่างจากที่ตั้งศูนย์ฯประมาณ 40 กิโลเมตร โดยดอกบัวตองจะบานช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี
  • แอดเวนเจอร์กับเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติดอยหมื่อกาโด่ เป็นเส้นทางชมพรรณไม้ป่า กุหลาบพันปี ดูนก เลียงผา และจุดชมวิวทะเลหมอกที่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,927 เมตร

 

 3-1

3-2

3-3

3-4

3-5

 

4. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งหลวง จ.เชียงใหม่

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งหลวง ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2522 ด้วยแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เล็งเห็นถึงปัญหาอันเกิดจากความขาดแคลนปัจจัยในการดำรงชีพและขาดการสนับสนุนด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านอาชีพที่ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาดูแลให้ความรู้ทางด้านเกษตรกรรม จึงได้มีการมุ่งเน้นการพัฒนาด้านอาชีพทางด้านการเกษตร เพื่อนำรายได้เข้าสู่ชุมชน ยับยั้งการปลูกฝิ่นและลดปัญหาการบุกรุกป่าทำไรเลื่อนลอย โดยศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งหลวงแห่งนี้ตั้งอยู่ในหุบเขา มีทัศนีภาพที่สวยงดงามเป็นพิเศษเหมาะแก่การทำนาและปลูกพืช ส่วนพื้นที่ลาดเชิงเขาเหมาะแก่การปลูกพืชไร่และผลไม้ ประชากรในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงและม้ง นับถือศาสนาพุทธและคริสต์ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งหลวงนี้มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมาย อาทิเช่น

  • ชมแปลงสาธิตการผลิตพืชผัก ไม้ดอก ไม้ผลตามฤดูกาล ไม่ว่าจะเป็นกะหล่ำปลี ผักกาดขาวปลี ผักกาดหอมห่อ แครอท เบบี้แครอท องุ่น กีวี พลับ พลัม เป็นต้น
  • เที่ยวชมน้ำตกห้วยกระแส ซึ่งจะได้สัมผัสกับป่าสนเขา ถึงแม้จะมีปริมาณน้ำไม่มากแต่ก็มีน้ำไหลรินชุ่มชื่นตลอดทั้งปี โดยเดินทางจากศูนย์ฯประมาณ 5 กิโลเมตร และเดินเท้าอีกประมาณ 1 กิโลเมตร
  • เที่ยวน้ำตกบ้านโป่งสมิต ที่ต้องเดินเท้าผ่านทุ่งนาเพื่อชมวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยง การทำนา และปลูกพืชแบบนาขั้นบันได หรือไหว้พระที่วัดพระธาตุศรีสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ สามารถไปนมัสการพระธาตุได้ตลอดทั้งปี และชื่นชมวิวทิวทัศน์ที่สวยงามโดยรอบ
  • เที่ยวปางช้างแม่วิน เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีกิจกรรมการล่องแพ ขี่ช้างตามลำน้ำแม่วาง ซึ่งตั้งห่างจากศูนย์ฯประมาณ 15 กิโลเมตร

 

4-1

4-2

4-3

4-4

4-5

 

5. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก จ.เชียงใหม่

หมู่บ้านเล็กๆ ที่ห่างไกลความเจริญ ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม รายได้น้อย ความเป็นอยู่ค่อนข้างยากลำบาก จนกระทั่งปี พ.ศ. 2524 สายพระเนตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงห่วงใยราษฎร พระองค์ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์ในการก่อตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก โดยมีเป้าหมายให้เป็นศูนย์สาธิตและส่งเสริมการเพาะเห็ดและกาแฟพันธุ์อาราบิก้า ให้แก่ราษฎรนอกเหนือจากการปลูกเมี่ยง การรับรู้รับฟังตลอดจนสร้างความเข้าใจให้กับชาวบ้าน ร่วมกันสร้างสรรค์ประสบการณ์ใหม่ๆ ในการดำรงชีวิต ทำให้ชาวบ้านก้าวสู่ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามลำดับ โดยศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าดิบเขาและป่าเบญจพรรณ ครอบคลุมพื้นที่ 4 หมู่บ้าน คือ บ้านป๊อก บ้านแม่ลาย บ้านแม่กำปอง และบ้านธารทอง ประชากรเป็นคนเมืองทั้งสิ้น ผู้ที่ได้เดินทางมาที่นี่สามารถชื่นชมธรรมชาติและเพลิดเพลินกับกิจกรรมภายในศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก อาทิเช่น

  • ชมโรงเรือนกล้วยไม้ฟาแลนนอปซิสหมากสีสัน
  • ชมแหล่งผลิตกาแฟอาราบิก้าคุณภาพดีของโครงการหลวงฯ ที่ล้อมรอบด้วยธรรมชาติป่าไม้ และลำน้ำจากน้ำตก
  • ชมชุมชนคนเมืองที่มีชื่อเสียงในด้านการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน “บ้านแม่กำปอง” ซึ่งเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงกันดีว่าเป็นบริการที่พักแบบ Home Stay ติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศไทย
  • ชมวิถีชีวิตพื้นเมืองหมู่บ้าน ชมการทำสวนเมี่ยง หมัก-นึ่งเมี่ยงแบบดั้งเดิม และเส้นทางศึกษาธรรมชาติ รวมถึงสวนสมุนไพรต่างๆ ในท้องถิ่น
  • ชมวิวดอยม่อนล้าน ชื่นชมธรรมชาติป่าไม้ ต้นกฤษณา กล้วยไม้ป่า และจุดชมดอกนางพญาเสือโคร่งบานและทะเลหมอกในช่วงฤดูหนาว พร้อมทั้งสามารถศึกษาเส้นทางที่เชื่อมไปถึงอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน จังหวัดลำปาง ได้อีกด้วย

 

5-1

5-2

5-3

5-4

5-5

5-6

5-7

 

6. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง จ.เชียงใหม่

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง ตั้งอยู่บนพื้นที่ของเทือกเขาสลับซับซ้อน สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,300 – 1,400 เมตร โดยศูนย์แห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2525 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปยังบ้านขุนวางเป็นครั้งแรก ได้ทอดพระเนตรเห็นว่า บริเวณแห่งนี้ยังมีการปลูกฝิ่นเป็นอย่างมาก ควรจะส่งเสริมการปลูกพืชชนิดอื่นที่มีรายได้ดีกว่าหรือทัดเทียมกับการปลูกฝิ่น จึงได้รับส่งให้หน่วยงานในพื้นที่ช่วยกันพิจารณา ปรับปรุง และพัฒนาพื้นที่ โดยเริ่มดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาด้านไม้ผลเป็นลำดับแรก ต่อมาจึงได้ขยายผลการดำเนินงานด้านไม้ดอก และส่งเสริมพัฒนาด้านสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม พร้อมทั้งส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติควบคู่ ในปัจจุบันศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง มีพื้นที่รับผิดชอบดำเนินงานถึง 499 ไร่ ครอบคลุมถึง 7 หมู่บ้านคือ บ้านขุนวาง  บ้านป่ากล้วย  บ้านโป่งลมแรง  บ้านโป่งน้อยเก่า  บ้านห้วยยาว และบ้านขุนแม่วาก นอกจากนี้ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวางยังมีบ้านพัก แคมป์ไฟ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ไว้ให้บริการสำหรับผู้ที่จะเดินทางมารับการเรียนรู้และท่องเที่ยวเชิงเกษตร วิถีชีวิตชนเผ่า และเยี่ยมชมธรรมชาติในพื้นที่ อาทิเช่น

  • ชมโรงเรือนปลูกดอกเบญจมาศหลากหลายสีสัน ทั้งแบบดอกเดี่ยว ดอกช่อ และดอกลิเซียทัส คาร์เนชั่น ลิลลี่
  • ชมโรงเรือนสาธิตการปลูกวานิลลา โดยจะออกฝักพร้อมเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนมีนาคม โรงเรือนเห็ดเมืองหนาว เช่น เห็ดโพโตเบลโล เห็ดแชมปิญอง เป็นต้น
  • ชมแปลงปลูกชาจีนเบอร์ 12 พันธุ์หยวนจืออู่หลง พร้อมดูขั้นตอนการผลิตชาและลิ้มลองชิมชาอร่อยๆ
  • ชมแปลงไม้ผล เช่น องุ่นไร้เมล็ด สตรอว์เบอร์รี่ พีช กีวี และบ๊วย รวมถึงแปลงปลูกผักเมืองหนาว เช่น บล็อกโคโลนี บล๊อคโคลี่ หอมญี่ปุ่น มะเขือเทศดอยคำ ผักกาดหวาน ถั่วหวาน เป็นต้น

 

6-1

6-2

6-3

6-4

6-5

6-6

6-7

6-8

 

7. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ จ.เชียงใหม่

หมู่บ้านแม่แฮและหมู่บ้านใกล้เคียง ในเขตตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง และตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง ม้ง และจีนยูนนาน ประกอบอาชีพทำนาทำไรแบบเลื่อนลอย ปลูกข้าวโพด ปลูกฝิ่น เลี้ยงสัตว์ตามธรรมชาติ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2521 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้พัฒนาอาชีพของชาวเขาหมู่บ้านแม่แฮและหมู่บ้านใกล้เคียงขึ้น โดยหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี  ประธานมูลนิธิโครงการหลวง ได้ขอให้สำนักเกษตรภาคเหนือเป็นผู้ดำเนินงานภายใต้ “โครงการหลวงพัฒนาเกษตรที่สูงแม่แฮ” ภายหลังก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ” โดยภายในศูนย์ฯ แห่งนี้ได้มีกิจกรรมที่น่าสนใจหลายจุดรอต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกท่านให้ได้แวะมาเยี่ยมเยือนกัน อาทิเช่น

  • ชมแปลงสาธิตการผลิตพืชผักเมืองหนาว ได้แก่ กะหล่ำปลีแดง ผักกาดหวาน ผักกาดหอมห่อ และสาธิตการเพาะกล้าผักเมืองหนาวชนิดต่างๆ ชมแปลงสาธิตการผลิตไม้ผล ได้แก่ องุ่น สาลี่ กีวี พลับ เคพกูสเบอร์รี เป็นต้น
  • ชมสวนสตอเบอรี่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ได้ที่บ้านบ่อแก้ว โดยจะเก็บผลผลิตได้ช่วงเดือนพฤศจิกายน – มีนาคม ของทุกปี
  • ชมดอกซากุระบาน หรือที่เรียกอีกชื่อว่า นางพญาเสือโคร่ง ภายในพื้นที่ศูนย์ฯ ตลอดช่วงฤดูหนาวของทุกปี รวมถึงในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ของทุกปี สามารถชื่นชมดอกบัวตองบานริมถนนตลอดสายแม่เตียน-แม่แฮ-ป่าเกี๊ยะน้อย และถนนสายแม่แฮ-ห้วยขมิ้นนอก การเดินทางสะดวกสบายสามารถเดินทางโดยรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ได้
  • ชมรอยพระบาท ที่คนในชุมชนเชื่อว่าเป็นรอยพระบาทของคนยุคสมัยโบราณซึ่งเห็นรอยมือและรอยเท้าได้อย่างชัดเจน พร้อมชมบ่อน้ำแร่จากธรรมชาติ
  • ชมวิวทิวทัศน์จากศูนย์ฯ และยอดดอยที่เป็นจุดที่สูงที่สุดของพื้นที่คือ ดอยม่อนยะ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตบ้านห้วยน้ำจางและม่อนยะใต้ ตลอดเส้นทางสู่ยอดดอยนั้นจะได้สัมผัสกับทิวทัศน์ที่สวยงดงาม

 

7-1

7-2

7-3

7-4

7-5

 

8. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์ จ.เชียงใหม่

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ 19 หมู่บ้าน และพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน 2 หมู่บ้าน โดยมีพื้นที่รวมถึง 153,592 ไร่ ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่าปกากะญอ ซึ่งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์แห่งนี้ส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมปลูกพืชผัก และผลไม้เมืองหนาว เนื่องจากพื้นที่ภูมิประเทศเป็นพื้นที่ป่าสนและป่าเต็งรังขนาดใหญ่ จุดเด่นคือ ป่าสนธรรมชาติที่กว้างใหญ่กว่าแสนไร่ ถือเป็นป่าสนอายุกว่าร้อยปีผืนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งมีทั้งสนสองใบและสนสามใบ และสำหรับผู้ที่รักการผจญภัย ที่นี่ยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติ 2 เส้นทาง คือ เส้นทางที่ 1 ชมป่าสนสองใบ เป็นป่าสนธรรมชาติ มีกล้วยไม้ป่าและนกประจำถิ่นหลายชนิด และเส้นทางที่ 2 ชมป่าสนสามใบ มีพรรณไม้ป่าและนกหายากหลายชนิดอีกด้วย นอกจากนี้ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์ ยังมีกิจกรรมให้ได้ชื่นชมและสัมผัสกับธรรมชาติอีกมากมาย อาทิเช่น

  • แปลงสาธิตผักของเกษตรกร เช่น ฟักทองมินิ ผักกาดขาว ซุกินี่ ไม้ผลเมืองหนาวตามฤดูกาล เช่น พลับ พลัม พีช บ๊วย สาลี่ เป็นต้น
  • ชมงานส่งเสริมปศุสัตว์บนพื้นที่สูง เช่น กวาง แพะ กระต่าย ไก่หลากหลายสายพันธุ์ เป็นต้น
  • ชมวิวทะเลหมอก ซึ่งอยู่ช่วงต่อระหว่างบ้านเด่น อำเภอกัลยานิวัฒนา กับบ้านห้วยตอง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน
  • ชมต้น “หยาดน้ำค้าง” เป็นพืชกินแมลง มีต้นที่สวยงาม และหาพบได้ยาก

 

8-1

8-2

8-3

8-4

8-5

8-6

 

9. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า จ.พะเยา

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่าสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 640 เมตร โดยจัดตั้งศูนย์ฯขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2530 ดำเนินการบุกเบิกพื้นที่จัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ การจัดสรรพื้นที่ทำกิน และการส่งเสริมให้คนในพื้นที่ปลูกไม้ผลเมืองหนาว เนื่องจากลักษณะพื้นที่เป็นภูเขาสูงและเนินเขาสลับไปมา จึงมีลำน้ำสายสำคัญคือ ลำน้ำแม่คะ และลำน้ำเงิน ในการหล่อเลี้ยงชางเขาเผ่าเย้าและม้ง นักท่องเที่ยวสามารถเพลิดเพลินกับแปลงสาธิตการปลูกผักในโรงเรือน อาทิเช่น มะเขือเทศโทมัส, พริกหวาน, คะน้าฮ่องกง, คะน้ายอด, เบบี้ฮ่องเต้ ฯลฯ หรือชมแปลงสาธิตการปลูกไม้ผล อาทิเช่น อะโวคาโด, เสาวรสหวาน, มะม่วงนวลคำ, เคฟกูสเบอรรี่, แมคคาดีเมีย เป็นต้น

 

9-1

9-2

9-3

9-4

9-5

 

เรียบเรียงโดย : www.hotelandresortthailand.com