“เทศกาลตรุษจีน” เป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญอย่างมาก สำหรับคนไทยเชื้อสายจีน ในปีนี้วันตรุษจีนตรงกับวันที่ 25 มกราคม 2563 ในช่วงเวลาสำคัญนี้ ตามธรรมเนียมดั้งเดิมชาวจีนจะนิยมไปไหว้เทพเจ้าศักดิ์สิทธิ์เพื่อขอพรให้อยู่เย็นเป็นสุข หากใครยังไม่รู้ว่าจะไปไหว้พระตรุษจีนที่ไหนดี วันนี้ Hotelandresort รวบรวม 9 สถานที่มงคลไหว้เสริมดวงต้อนรับปีใหม่จีนมาให้แล้ว ใกลที่ไหนปักหมุดที่นั่นเลยย
วัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่)
ขอบคุณรูปภาพจาก Facebook : วัดมังกรกมลาวาส 龍蓮寺
“วัดมังกรกมลาวาส” ตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุง ระหว่างซอยเจริญกรุง 19 และ 21 เป็นวัดจีนที่เป็นที่มีคนรู้จักมากที่สุดในประเทศไทย ขึ้นชื่อในเรื่องการไหว้พระขอพรเป็นอันดับต้นๆเลยทีเดียว และที่นิยมไหว้ขอพรมากคือ เทพเจ้าแห่งโชคลาภ “ไฉ่ซิ้งเอี๊ยะ” เทพเจ้าเฮ่งเจีย หรือ “ไต่เสี่ยหุกโจ้ว” พระเมตไตรยโพธิสัตว์หรือ “ปู๊กุ่ยหุกโจ้ว” ซึ่งคล้ายกับพระมหากัจจายนะ “กวนอิมผู่สัก” หรือ พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ “แป๊ะกง” และ “แป๊ะม่า” รวมเทพเจ้าในวัดจะมีทั้งหมด 58 องค์ และในช่วงเทศกาลตรุษจีนจะมีผู้คนแวะเวียนเข้ามาสักการบูชาขอพรทวยเทพธรรมบาลเพื่อความเป็นสิริมงคลให้กับตัวเองเป็นจำนวนมาก
✤ ที่อยู่ : 423 ถนนเจริญกรุง เขตป้อมปราบ แขวงป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ
วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ (วัดมังกรกมลาวาส 2 หรือวัดเล่งเน่ยยี่ 2)
ขอบคุณรูปภาพจาก Facebook : วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ 敕賜普頌皇恩寺
“วัดเล่งเน่ยยี่ 2” ถือเป็นอีกวัดหนึ่งที่มีผู้คนให้ความสนใจไปไหว้พระขอพรเป็นจำนวนมากเช่นกัน เพราะนอกจากจะเป็นวัดสาขาของวัดเล่งเน่ยยี่แล้ว ในด้านสถาปัตยกรรมก็ยังมีความโดดเด่นยิ่งนัก เนื่องจากใช้รูปแบบของพระราชวังต้องห้ามมาเป็นต้นแบบ อีกทั้งยังสร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นวัดเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี อีกด้วย
✤ ที่อยู่ : เลขที่ 75 หมู่ที่ 4 ตำบลโสนลอย อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี
วัดมังกรบุปผาราม (วัดเล่งฮัวยี่)
ขอบคุณรูปภาพจาก : https://www.edtguide.com/
วัดมังกรบุปผาราม หรือ “วัดเล่งฮัวยี่” เป็นวัดในพุทธศาสนา นิกายมหายาน เป็นวัดจีนหนึ่งในสามวัดเล่งอันหมายถึงมังกร ชื่อภาษาจีนคือ “เล่งฮั้วยี่” แปลได้ว่า มังกรบุปผาราม มีศาลาและพระอุโบสถที่ตกแต่งด้วยกระเบื้องโมเสกเป็นลวดลายต่างๆอย่างงดงาม ภายในวัดมีบรรยากาศที่เงียบสงบ และร่มรื่น เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจในการปฏิบัติธรรม
✤ ที่อยู่ : ติดถนนสุขุมวิท เส้นทางสายจันทบุรี-ขลุง ตำบลพลิ้ว อำเภอเเหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี
ศาลเจ้าแม่กวนอิม (มูลนิธิเทียนฟ้า)
ขอบคุณรูปภาพจาก : https://www.edtguide.com/
มูลนิธิแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงมอบทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ในการจัดตั้งขึ้น เป็นสถาปัตยกรรมผสมผสานจีนแต้จิ๋ว มีหงส์อันเป็นตัวแทนของสตรีเพศ ดอกโบตั๋นและค้างคาว บอกความเจริญรุ่งเรือง องค์ประธานศาลเจ้าคือ เจ้าแม่กวนอิมปางประทานพร แกะสลักจากไม้เนื้อหอมลงรักปิดทอง ผู้คนนิยมมาไหว้เพื่อขอพรให้ปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บ มีพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง
✤ ที่อยู่: ซอย เยาวราช 7 แขวง สัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ
ศาลเจ้าพ่อเสือ
ขอบคุณรูปภาพจาก Facebook : ศาลเจ้าพ่อเสือเสาชิงช้า – official
ศาลเจ้าพ่อเสือ เสาชิงช้า หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “ศาลเจ้าพ่อเสือ” เป็นศาลเจ้าเก่าแก่ซึ่งตั้งอยู่บนถนนตะนาว ใกล้เสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร คนจีนเรียกศาลเจ้านี้ว่า “ตั่วเหล่าเอี้ย” โดยเป็นที่ประดิษฐานรูปเอี่ยนเถี้ยนส่งเต้, รูปเจ้าพ่อเสือ, รูปเจ้าพ่อกวนอู และรูปเจ้าแม่ทับทิม ว่ากันว่าตั้งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เดิมตั้งอยู่ริมถนนบำรุงเมือง ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดให้ขยายถนนบำรุงเมือง ได้โปรดให้ย้ายศาลมาไว้ที่ทางสามแพร่งถนนตะนาว จนถึงปัจจุบัน
✤ ที่อยู่ : 468 ถนนตะนาว ใกล้เสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพฯ
ศาลเจ้าหน่าจาซาไท้จื้อ (วิหารเทพสถิตพระกิติเฉลิม)
ขอบคุณรูปภาพจาก Facebook : 哪吒三太子宮 ศาลเจ้าน่าจาซาไท้จื้อ อ่างศิลา
ศาลเจ้านาจา หรือ “ศาลเจ้านาซาไห้จื้อ” ตั้งอยู่ที่บริเวณวิหารเทพสถิตพระกิติเฉลิม เป็นศาลเจ้าจีนที่ก่อสร้างโดยมูลนิธิธรรมรัศมีมณีรัตน์อย่างสวยงามใหญ่โต ศาลเจ้าแห่งนี้สร้างขึ้นมากว่า 10 ปีแล้ว สวยงามอลังการมาก ประดับประดาด้วยสีสันลวดลายมังกร ทั้งสีทอง สีแดง สีเขียว เวลาต้องแสงอาทิตย์แล้วงดงามเกินบรรยาย ภายในโอ่โถงตระการตาด้วยสถาปัตยกรรมแบบจีน ประดิษฐานรูปเคารพของเทพเจ้าจีนมากมายหลายองค์ เช่น เทพเจ้าหน่าจาซาไห้จื้อ เจ้าแม่กวนอิมพันมือ เป็นต้น หาดขึ้นไปชั้นบนก็สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ชายทะเลได้สวยงาม
✤ ที่อยู่ : 1/13 หมู่ 5 ตำบลอ่างศิลา อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี
ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี
ขอบคุณรูปภาพจาก Facebook : เรารักสุพรรณบุรี We Love Suphanburi
ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ ซึ่งแต่เดิมเรียกกันว่า “ศาลเทพารักษ์หลักเมือง” เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่เคารพนับถือของชาวจังหวัดสุพรรณบุรีและประชาชนทั่วไปมาตั้งแต่สมัยโบราณกาลแล้ว ศาลเทพารักษ์หลังเดิมเชื่อกันว่าสร้างตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยา ต่อมาได้มีการบูรณะใหม่สร้างอาคารครอบหลังเดิมไว้ เมื่อกราบไหว้ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเรียบร้อยแล้ว ที่เดียวกันนี้เองก็ยังมีบริเวณอันกว้างใหญ่มีสิ่งก่อสร้างต่างๆที่เรียกว่าอุทยานมังกรสวรรค์ ซึ่งเป็นจุดท่องเที่ยวให้เดินชมและพักผ่อนด้วย นอกจากจะได้ไหว้พระขอพรแล้ว ที่นี่ก็ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน
✤ ที่อยู่ : หมู่ 1 491/1 ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี
ศาลเจ้าปุงเถ่ากง เชียงใหม่
ขอบคุณรูปภาพจาก Facebook : ศาลเจ้าปุงเถ่ากงเชียงใหม่ 清邁老本頭古廟 Pung Tao Kong Chiang Mai
“ศาลเจ้าปุงเถ่ากง” เชียงใหม่ เป็นศาลเจ้าเก่าแก่ที่สุดในเชียงใหม่สร้างขึ้นจากแรงศรัทธาของเหล่าบรรพชนชาวจีนโพ้นทะเล โดยอาคารหลังเดิมสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และได้พบตัวเลข 2419 สลักอยู่บนไม้อกไก่ของหลังคา ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นปีที่ก่อสร้าง เนื่องจากอาคารหลังเดิมมีสภาพหลังคาเตี้ย คับแคบ ชำรุดทรุดโทรมมาก ดังนั้นเมื่อปี พ.ศ.2539 ตรงกับปีกาญจนาภิเษกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงครองราชย์ครบ 50 พรรษา ซึ่งตรงกับวาระสมโภชน์ 700 ปี นพบุรีศรีนครพิงค์ เชียงใหม่ จึงได้มีการวางศิลาฤกษ์และดำเนินการก่อสร้างอาคารศาลเจ้าหลังใหม่จนเสร็จสมบูรณ์
✤ ที่อยู่: 64-66 ถนนไปรษณีย์ ตำบลช้างม่อย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง
ขอบคุณรูปภาพจาก : http://www.siamfreestyle.com/
ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ย หรือ “จุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง” เป็นศาลเจ้าจีนในจังหวัดภูเก็ต คนภูเก็ตเรียกศาลเจ้าว่า “อ๊าม” ตั้งอยู่ที่ซอยภูธร ถนนระนอง อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต โดยความหมายของคำว่าจุ้ยตุ่ยนั้น “จุ้ย” แปลว่า น้ำ “ตุ่ย” แปลว่า ครกตำข้าว สมัยก่อนนั้น หน้าบริเวณศาลเจ้าเป็นคลองกว้าง มีน้ำมาก ชาวบ้านจึงสร้างกังหันขึ้น เพื่อใช้กำลังจากน้ำมาตำข้าวที่เก็บเกี่ยวแล้ว ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป ไม่ใช่เฉพาะชาวภูเก็ตเท่านั้น แต่นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะผู้ที่เดินทางไปยังจังหวัดภูเก็ตเนื่องในเทศกาลตรุษจีนและกินเจ ก็มักจะนิยมเข้าไปกราบไหว้ขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิในศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยนี้เสมอๆ
✤ ที่อยู่: 283 ซอย ภูธร ตำบลตลาดเหนือ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.ptp.or.th/