วัดประจำรัชกาลที่ 1 -9 แห่งราชวงศ์จักรี

วัดประจำรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร หรือ “วัดโพธิ์” วัดโบราณเก่าแก่สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ที่ตั้งอยู่ใกล้กับวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) และพระบรมมหาราชวัง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้เข้ามาบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร” เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร เดิมชื่อว่า “วัดโพธาราม” เป็นวัดโบราณเก่าแก่ที่ราษฎรสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี แม้ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างที่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นหลังจากปีพุทธศักราช ๒๒๓๑ ในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชาต่อกับรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นวัดราษฎร์ขนาดเล็กอยู่ในเขตตำบลบางกอก ปากน้ำเจ้าพระยา เมืองธนบุรี ชาวบ้านเรียกกันทั่วไปว่า “วัดโพธิ์” มาจนถึงกระทั่งทุกวันนี้

วัดประจำรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร

วัดอรุณราชวราราม เป็นวัดโบราณสร้างตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมเรียกว่า ” วัดมะกอก ” แล้วเปลี่ยนมาเป็น “ วัดแจ้ง ” ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธ-เลิศหล้านภาลัย ได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่แล้วพระราชทานชื่อใหม่ว่า “ วัดอรุณราชธาราม ” ถึงรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมอีก แล้วเปลี่ยนชื่อวัดเป็น “ วัดอรุณราชวราราม ” มีชื่อเต็มว่า “ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ”

วัดประจำรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

วัดราชโอรสาราม ราชวรวิหาร

เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร เดิมชื่อว่า วัดจอมทอง เป็นวัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ได้รับพระราชทานนามใหม่เป็น วัดราชโอรส หมายถึง วัดที่พระราชโอรสทรงสถาปนาขึ้น ด้วยเหตุที่เมื่อครั้งที่รัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ในรัชกาลที่ ๒ ได้เป็นแม่ทัพคุมพลเสด็จไปสกัดกั้นทัพพม่าที่เมืองกาญจนบุรีโดยทางเรือ และเส้นทางเดินทัพในวันแรกได้เสด็จผ่าน คลองบางกอกใหญ่ (ปัจจุบันคือคลองบางหลวง) เข้าคลองด่าน เมื่อเสด็จถึงหน้าวัดจอมทองทรงหยุดประทับแรมที่หน้าวัด และได้ทรงประกอบพิธีเบิกโขลนทวารตามตำราพิชัยสงครามเล่ากันว่าท่านเจ้าอาวาสวัดจอมทองได้จับยามสามตาดู แล้วถวายคำพยากรณ์ว่าจะประสบผลสำเร็จและเสด็จกลับมาโดยสวัสดิภาพ จึงทรงเลื่อมใสและประทานพรไว้ว่า หากเป็นเช่นนั้นจริงจะสร้างวัดถวายใหม่ หลังจากเลิกทัพเสด็จกลับพระนครโดยปลอดภัยแล้วจึงปฏิสังขรณ์วัดนี้ขึ้นใหม่ทั้งวัดตามที่ทรงประทานพรไว้กับเจ้าอาวาส และเนื่องจากพระองค์ทรงนิยมศิลปะจีน รูปทรงสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมต่างๆ ในพระอารามนี้จึงเป็นศิลปะประยุกต์แบบ ไทยผสมจีน เรียกกันในสมันนั้นว่า ศิลปะพระราชนิยม

ศิลปกรรมไทยในวัดนี้ล้วนประยุกต์สรรค์สร้างได้อย่างกลมกลืน งดงาม หาที่ติไม่ได้ เช่น ลายกระแหนะรูปเสี้ยวกางที่บานประตูหน้าต่างพระวรวิหารพระพุทธไสยาสน์ รูปหลังคาแบบจีนของพระอุโบสถ พระวิหารพระพุทธไสยาสน์ ตลอดถึงกุฏิ นับเป็นครั้งแรกที่มีการสร้างโบสถ์ วิหารที่ไม่มีช่อฟ้า ใบระกาและหางหงส์ แต่ยังคงรูปสิ่งเหล่านั้นไว้เป็นสัญลักษณ์แห่งศาสนสถานได้อย่างสง่าและงดงาม

วัดประจำรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร

เป็นพระอารมหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร รัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นตาทพระราชดำริเพื่อประโยชน์ ๒ ประการ คือ ประการแรก ให้เป็น พระอารามหลวงของพระมหากษัตริย์ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชประเพณีโบราณที่ว่า ในราชธานีจะต้องมีสำคัญประจำ ๑ วัด ได้แก่ วัดมหาธาตุฯ วัดราชบูรณะฯ และวัดราชประดิษฐฯ ประการที่ ๒ ให้เป็น วัดฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ที่อยู่ใกล้กับพระบรมมหาราชวัง สะดวกสำหรับพระองค์ เจ้านายและข้าราชการฝ่ายหน้าฝ่ายในทั้งหลายไม่ต้องเดินทางไกลไปถึง วัดบวรนิเวศมหาวิหารฯ ต่อมารัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แบ่งพระบรมอัฐิของรัชกาลที่ ๔ ไปบรรจุในพระพุทธอาสน์ของพระประธานในพระอุโบสถ จึงถือว่าเป็น วัดประจำรัชกาลที่ ๔ ภายในพระวิหารมีจิตรกรรมภาพเขียนแปลกกว่าวัดอื่น คือ ผนังระหว่างหน้าต่างเป็น ภาพพระราชพิธี ๑๒ เดือน ส่วนที่ผนังหน้าพระประธานเป็น ภาพสุริยุปราคา มีคนกำลังส่องกล้องดูดาว ทำให้รำลึกถึงการเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสุริยุปราคา ที่ ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในปี พ.ศ. ๒๔๑๑

วัดประจำรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

วัดประจำรัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นพระอารามหลวงที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นวัดประจำรัชกาลเมื่อ พ.ศ. 2412 โดยมีพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ และเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (หม่อมราชวงศ์ปุ้ม มาลากุล) เป็นผู้อำนวยการก่อสร้าง มีลักษณะผสมระหว่างสถาปัตยกรรมไทยกับสถาปัตยกรรมตะวันตก คือ ลักษณะภายนอกเป็นสถาปัตยกรรมไทย ส่วนภายในออกแบบตกแต่งอย่างตะวันตก และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่าวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม หมายถึง วัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง และมีมหาสีมาอันเป็นเสาศิลาจำหลักยอดเป็นรูปเสมาธรรมจักร 8 เสา ตั้งเป็นสีมาที่กำแพง 8 ทิศ “ราชบพิธ” หมายถึง พระอารามที่พระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง บพิธ คำนี้มาจากภาษาบาลีคือ ปวิธะ ที่แปลว่าสร้าง ส่วน “สถิตมหาสีมาราม” หมายถึง พระอารามซึ่งมีสีมากว้างใหญ่ เป็นมหาสีมาล้อมรอบอาณาเขตของวัด วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม นับเป็นพระอารามหลวงสุดท้าย ที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างตามโบราณราชประเพณีที่มีการสร้างวัดประจำรัชกาล

วัดประจำรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

วัดบวรนิเวศวิหาร (วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร)

เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ตั้งอยู่ต้นถนนตะนาวและถนนเฟื่องนคร เขตพระนคร กรุงเทพฯ แต่เดิมวัดแห่งนี้ ชื่อว่า “วัดใหม่” ตั้งอยู่ใกล้กับวัดรังษีสุทธาวาส โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ วังหน้าในรัชกาลที่ ๓ ได้ทรงสร้างขึ้นใหม่ด้วยศิลปะไทยผสมจีน โดยทรงผูกพัทธสีมาเป็นครั้งแรกเมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๗๒ ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยุบวัดรังษีสุทธาวาสมารวมกับวัดบวรนิเวศวิหาร

วัดประจำรัชกาลที่ ๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร

วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร หรือ วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษ ชนิดราชวรมหาวิหาร ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ ณ แขวงราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร มีชื่อเรียกกันเป็นสามัญหลายชื่อตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ อาทิเช่น วัดพระใหญ่, วัดพระโต ซึ่งเป็นการเรียกตามลักษณะพระพุทธรูปสำคัญของวัดคือพระศรีศากยมุนี หรือ “วัดเสาชิงช้า” ซึ่งเรียกตามสถานที่ตั้งที่อยู่ใกล้กับเสาชิงช้า ด้านหน้าเทวสถานของพราหมณ์บริเวณใจกลางพระนคร ภายในวัดสุทัศนเทพวรารามเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และได้อัญเชิญ พระบรมราชสรีรางคารของพระองค์ มาบรรจุที่ผ้าทิพย์ด้านหน้าพุทธบัลลังก์พระศรีศากยมุนีเมื่อ พ.ศ. 2493 และมีพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทรในวันที่ 9 มิถุนายนของทุกปี

วัดประจำรัชกาลที่ ๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช

วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก

วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก เป็นวัดที่สร้างขึ้นโดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในปี พ.ศ. 2538 ตั้งอยู่เลขที่ 999 ซอยพระราม 9 กาญจนาภิเษก 19 ถนนพระราม 9 แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร เป็นวัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคมสีมาและได้รับการยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีเป็นการพิเศษ สืบเนื่องจากสภาพสังคมไทยในปัจจุบันปัญหาเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม นับเป็นปัญหาใหญ่ที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งชุมชนบึงพระราม ๙ ก็เป็นสถานที่อีกแห่งหนึ่ง ที่ปราบปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น อันก่อให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสีย ส่งผลให้เกิดการทำลายสภาพแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน กอรปกับแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นแหล่งปลายทางรับน้ำเสียจากทุกหนแห่ง ได้เริ่มเสื่อมโทรมลงทุกขณะ หากไม่เร่งแก้ไขปัญหาต่างๆ ก็จะตามมาอย่างไม่หยุดยั้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นกับประชาชนและประเทศชาติ จึงมีพระราชดำริให้ทดลองแก้ไขปัญหาน้ำเสียด้วยวิธีเติมอากาศ ณ บริเวณบึงพระราม ๙ ในลักษณะเป็นระบบบำบัดน้ำเสียขนาดเล็กและทำการทดสอบการบำบัดน้ำเน่าเสียที่ ไหลมาตามคลองลาดพร้าวบางส่วนให้มีคุณภาพดีขึ้น โดยใช้วิธีเติมอากาศลงไปในน้ำและปล่อยให้น้ำตกตะกอนแล้วปรับสภาพก่อนระบาย ออกสู่ลำคลองตามเดิม รวมทั้งการปรับปรุงคุณภาพน้ำซึ่งเป็นการนำน้ำสะอาดจากแม่น้ำเจ้าพระยามา ชะล้างทำความสะอาดคลองและระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง โดยอาศัยจังหวะน้ำขึ้น – น้ำลง ตามธรรมชาติ อันเป็นการบรรเทาปัญหาได้ในระดับหนึ่ง

ขอบคุณรูปภาพจาก  ดอกจานโฟโต้ , www.lip.su.sc.th , watpraram 9.blongspot.com , dhammajak.net

เรียบเรียงโดย www.hotelandresortthailand.com