ย้อนรอยประวัติศาสตร์ “เมืองศรีเทพ” ตำนานเมืองเทพ-เทวดา จ.เพชรบูรณ์

“เมืองศรีเทพ” ตำนานเมืองเทพ-เทวดา

พื้นที่ตั้งอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ นับเป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย ปัจจุบันยังเปรากฎร่องรอยหลักฐาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยของมนุษย์ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์  วัฒนธรรมทวารวดี และเขมรตามลำดับ ก่อนที่จะถูกทิ้งร้างไปด้วยสาเหตุโรคระบาดร้ายแรงหรือปัญหาภัยแล้ง ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 18 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 19  อันเป็นช่วงก่อนที่วัฒนธรรมสุโขทัย และอยุธยา จะเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาแทนที่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก และมีการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องมาจนเท่าถึงปัจจุบัน

เมืองโบราณแห่งนี้มีลักษณะเป็นเมืองซ้อนเมือง แล้วมีเนินดินสูงล้อมรอบคล้ายกำแพงเมือง ด้านนอกของเนินดินเป็นบึงน้ำขนาดใหญ่ล้อมรอบอีกหนึ่งชั้น การขุดค้นเมืองโบราณแห่งนี้เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2521 โดย กรมศิลปากร และเป็นที่น่าแปลกใจของกรมศิลปากรเมื่อเห็นว่าภายในพื้นที่บริเวณเขตเมืองโบราณนั้นไม่มีชาวบ้านคนไหนเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่ภายในเมืองโบราณเลย แต่กลับสร้างบ้าน และตั้งถิ่นฐานอยู่รอบนอกเขตเมืองโบราณเท่านั้น ซึ่งชาวบ้านทุกคนให้ความสำคัญและเคารพในพื้นที่เมืองโบราณ เพราะไม่ได้เป็นเพียงโบราณสถานเท่านั้น แต่ยังเป็นศูนย์รวมจิตใจที่ชาวบ้านต้องการที่จะรักษาภาพลักษณ์ และอนุรักษ์ไม่ให้พื้นที่เมืองโบราณนี้ไม่ถูกทำลายจากบุคคลภายนอก

บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพในปัจจุบัน
มีสิ่งที่น่าสนใจ แบ่งเป็น 2 ส่วน 
ส่วนอาคารจัดแสดง และ ส่วนอุทยาน

  • ปรางค์สองพี่น้อง เป็นสถาปัตยกรรมเนื่องในวัฒนธรรมเขมร มีลักษณะเป็นปราสาทที่ก่อด้วยอิฐสององค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ทั้งสององค์ส่วนยอดพังทลายไปจนหมดสิ้นแล้ว แต่องค์เล็กยังหลงเหลือทับหลังศิลาทรายที่มีสภาพสมบูรณ์ประดับอยู่ จำหลักเป็นรูปอุมามเหศวร(พระอิศวรอุ้มนางปารพตี (อุมา) ประทับนั่งอยู่เหนือโคอศุภราชหรือนนทิ)
  • เทวรูปพระอาทิตย์ หรือ สุริยเทพ ผู้เป็นเทพแห่งแสงสว่างและความอบอุ่น สลักจากศิลาทรายอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 13 รวมทั้งหมดถึง 6  องค์ ปัจจุบันจัดแสดงและเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร  กรุงเทพมหานคร  จำนวน  3  องค์  จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์นอร์ตัน  ไซมอน  สหรัฐอเมริกา  จำนวน  1  องค์  จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  สมเด็จพระนารายณ์  จังหวัดลพบุรี  จำนวน  1  องค์ และเก็บรักษาไว้ที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ  จำนวน 1 องค์)  ซึ่งนับเป็นหลักฐานสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อในศาสนาฮินดูที่เคารพนับถือในพระอาทิตย์หรือสุริยเทพ อันจะมีพิธีกรรมบางอย่างที่เกี่ยวเนื่องกับประเพณีมหาสงกรานต์ที่มีการพบเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยปัจจุบัน

  • ปรางค์ศรีเทพ เป็นสถาปัตยกรรมเนื่องในวัฒนธรรมเขมรมีลักษณะเป็นปราสาทที่ก่อด้วยอิฐตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงขนาดใหญ่ หันหน้าไปทางด้านตะวันตก ในแนวแกนเดียวกับปรางค์สองพี่น้อง จากลักษณะทางสถาปัตยกรรมและโบราณวัตถุที่พบโดยเฉพาะทับหลังทำให้อนุมานได้ว่าคงสร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวาลัยเนื่องในศาสนาฮินดู(พราหมณ์) ลัทธิไศวนิกาย และต่อมาคงมีการพยายามซ่อมแซมดัดแปลงแต่ยังไม่แล้วเสร็จเพื่อใช้เป็นศาสนสถานเนื่องในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เช่นเดียวกันกับปรางค์สองพี่น้อง เนื่องจากมีการพบชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมที่เป็นเพียงโกลนอยู่เป็นจำนวนมาก

  • เขาคลังใน เป็นศาสนสถานสำคัญประจำเมืองที่มีขนาดใหญ่เนื่องในวัฒนธรรมทวารวดี  ที่สร้างขึ้นพร้อมกับสมัยแรกสร้างเมืองในราวพุทธศตวรรษที่ 12  เพื่อเป็นศาสนสถานเนื่องในพุทธศาสนาลัทธิหินยานหรือเถรวาท แล้วต่อมาจึงได้มีการปรับเปลี่ยนเป็นศาสนสถานเนื่องในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน  และคงใช้สอยตลอดมา จนกระทั่งเมืองถูกทิ้งร้างไป  มีลักษณะก่อด้วยศิลาแลง หันหน้าไปทางด้านทิศตะวันออก  บริเวณฐานด้านทิศใต้และตะวันตก ยังหลงเหลือประติมากรรมปูนปั้นรูปคนแคระที่มีศีรษะเป็นบุคคลหรือสัตว์ต่างๆ สลับกับรูปสัตว์ในท่าแบกประกอบลายพันธ์พฤกษา  ซึ่งพบและหลงเหลือประดับอยู่ที่ฐานโบราณสถานเนื่องในวัฒนธรรมทวารวดีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยปัจจุบัน

  • ศาลเจ้าพ่อศรีเทพ เป็นที่ประดิษฐานของเจ้าพ่อศรีเทพ ซึ่งเป็นที่เคารพเชื่อถือของชาวอำเภอศรีเทพและบริเวณใกล้เคียงเป็นอย่างมาก โดยจะมีการจัดงานประเพณีบวงสรวงขึ้นทุกปีในระหว่างวันขึ้น 2 – 3 ค่ำ  เดือน 3 (ปลายเดือนมกราคม – ต้นเดือนกุมภาพันธ์)  ตัวศาลมีลักษณะเป็นอาคารไม้ทรงไทยสองหลัง  อาคารด้านหน้าใช้เป็นที่ประดิษฐานเจ้าพ่อศรีเทพ  ส่วนอาคารด้านหลังใช้เป็นอาคารเอนกประสงค์  สำหรับองค์เจ้าพ่อนั้นเดิม ได้ใช้ประติมากรรมรูปเคารพที่ได้จากเมืองโบราณศรีเทพมาประดิษฐานเป็นองค์สมมติ  ต่อมาองค์เจ้าพ่อนั้นได้ถูกโจรกรรมไป  ประชาชนที่เคารพนับถือจึงได้แกะสลักองค์เจ้าพ่อขึ้นใหม่ตามจินตนาการ และ ความเชื่อเพื่อใช้เป็นรูปเคารพประจำศาลเจ้าพ่อศรีเทพสืบมาจนถึงปัจจุบัน

  • เขาคลังนอก เป็นศาสนสถานขนาดใหญ่เนื่องในวัฒนธรรมทวารวดี สันนิษฐานว่ามีลักษณะเป็นมหาสถูป มีฐานขนาดใหญ่ทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ก่อด้วยศิลาแลงที่ยังคงสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ประดับตกแต่งฐานด้วยอาคารจำลองอยู่โดยรอบ ภายในทึบตัน มีบันไดทางขึ้นทั้ง 4 ด้าน มีสถูปก่อด้วยอิฐตั้งอยู่ด้านบนล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วและซุ้มประตู

  • ปรางค์ฤาษี เป็นเทวาลัยในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบเขมรโบราณ ตัวปราสาทก่อด้วยอิฐไม่สอปูน ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงขนาดไม่สูงนัก และมีอาคารขนาดเล็กในบริเวณเดียวกัน ล้อมรอบด้วยแนวกำแพงก่อด้วยศิลาแลง พบโบราณวัตถุเนื่องในศาสนาฮินดู ได้แก่ ศิวลึงค์ ฐานประติมากรรม และชิ้นส่วนโคนนทิ

❀ ที่อยู่ : เลขที่ 208 หมู่ 13 ตำบลศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ 67170
❀ โทรศัพท์ : 056-921 322
❀ วันและเวลาทำการ : เปิดทำการทุกวัน  เวลา 08.30-16.30 น.

ขอขอบคุณรูปภาพจาก : https://www.museumthailand.com
» เรียบเรียงโดย www.hotelandresortthailand.com