10 ตำนานคาดไม่ถึง ของสถานที่เที่ยวสุดฮิตในเชียงใหม่

จังหวัดเชียงใหม่ เป็นจังหวัดที่มีเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมพื้นเมืองหลากหลาย และประเพณีท้องถิ่นที่สะท้อนให้เห็นถึงเสน่ห์มากมายค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาปัตยกรรม ศิลปะวัฒนธรรมที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ หลายครั้งที่เรามีโอกาสได้ไปเยือนสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจของเชียงใหม่ พร้อมกับการได้ฟังตำนานเล่าขานของสถานที่นั้นๆ วันนี้ Hotelandresort ขอย้อนอดีตเล่า 10 ตำนานคาดไม่ถึง ของสถานที่เที่ยวสุดฮิตในเชียงใหม่ จะมีที่ไหนบ้างนั้น…ตามมาอ่านกันจ้า

1.ดอยหลวงเชียงดาว 

เปิดตำนานอันลึกลับที่แรกกันด้วย ดอยหลวงเชียงดาว เป็นภาษาล้านนา มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ดอยอ่างสลุงเชียงดาว” อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว เป็นดอยที่สูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศไทยรองจากดอยอินทนนท์ และดอยผ้าห่มปก ดอยหลวงเชียงดาว” เป็นเขาหินปูนอายุราวๆ 230-250 ล้านปี เกิดจากการทับถมของตะกอนของสิ่งมีชีวิตจากทะเล เช่นปะการังและหอย แสดงให้เห็นว่าบริเวณนี้เคยเป็นท้องทะเลมาก่อนในอดีตกาล

ตามตำนานเล่าต่อกันมาของ “ดอยหลวงเชียงดาว” อ้างอิงมาจากตำนานพระเจ้าเลียบโลกว่า..สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เคยเสด็จมาสรงน้ำ ณ ดอยแห่งนี้ โบราณจึงเรียกสถานที่ดังกล่าวว่า “อ่างสรง” ออกเสียงว่า “อ่างสะหรง” แล้วเพี้ยนกลายมาเป็น “อ่างสลุง” ซึ่งภาษาล้านนาแปลว่าขันน้ำใบใหญ่ และจากคำทำนายของพระพุทธองค์ซึ่งกล่าวเอาไว้ว่า “ดอยแห่งนี้สูงนัก สูงเพียงเดือนเพียงดาว ภายหน้าจักเกิดเมืองชื่อเมือง เพียงดาว” ซึ่งต่อมาภายหลังเพี้ยนเสียงมาเป็น “เชียงดาว” ดังปรากฏในปัจจุบัน

และยังมีตำนานอันยิ่งใหญ่ของ “ดอยหลวงเชียงดาว” อีกตำนานหนึ่งคือตำนาน “เจ้าสุวัณณะคำแดง” ตำนานนี้มีเนื้อหาเชื่อมโยงกับเมืองเชียงใหม่อย่างชัดเจน เนื่องจากกล่าวถึง “เจ้าหลวงคำแดง” ผู้เป็นเทพเจ้าอารักษ์เมืองเชียงใหม่มาแต่อดีตกาล ด้วยในสมัยดึกดำบรรพ์ก่อนพุทธกาล คนทั้งหลายไม่มีศีลธรรมส่งกลิ่นเหม็นไปถึงพรหมโลก ร้อนถึงพระอินทร์ต้องลงมาดูแลความประพฤติของมนุษย์ แต่พระอินทร์ต้องการให้มนุษย์สั่งสอนกันเอง จึงเลือกเอาเจ้าสุวัณณะคำแดง หรือเจ้าหลวงคำแดง ผู้มีนิวาสถานอยู่ทางทิศเหนือมาจัดการสร้างเมืองล้านนา และสั่งสอนให้ผู้คนให้อยู่ในศีลในธรรม รักษาศีลห้าศีลแปด แต่เมื่อเจ้าหลวงคำแดงสิ้นชีพ วิญญาณของเจ้าหลวงได้สถิต ณ “ดอยหลวงเชียงดาว” และมีฐานะเป็นอารักษ์ใหญ่ เป็นประมุขแห่งบรรดาผีทั้งหลายในล้านนา “ดอยหลวงเชียงดาว” จึงมีความสำคัญยิ่งต่อเมืองเชียงใหม่ในหลายๆด้านค่ะ

แถมยังมีถ้ำเชียงดาว ที่คนโบราณเชื่อว่ามีสิ่งของล้ำค่าที่สุดอยู่ในถ้ำ ซึ่งก็มีเจ้าสุวัณณะคำแดงเป็นผู้ปกปักดูแลรักษา ตำนานเหล่านี้จึงทำให้ “ดอยหลวงเชียงดาว” เป็นดอยศักดิ์สิทธิ์ของคนล้านนามานมนามจนถึงปัจจุบันค่ะ
ที่อยู่ : อุทยานแห่งชาติเชียงดาว ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
เบอร์ติดต่อ : 053 455 802, 089 955 1417

❀❀❀❀❀❀❀❀

2.กาดเมืองผี 

“กาดเมืองผี” ในปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ บริเวณโดยรวมอุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้นานาชนิด “กาดเมืองผี” เป็นหินปูนสูงประมาณ 6 เมตร เป็นเเหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่สมบูรณ์มากๆ

ภาพจาก : chaiprakan.chiangmai.doae.go.th

ลักษณะของหน้าผาจะเป็นดินทราย มีเสาหินทรายรูปร่างคล้ายกับดอกเห็ด หรือเสาปราสาทโรมัน เป็นประตูเมืองเก่า ซึ่งก็เเล้วเเต่มุมมองของเเต่ละคนค่ะ และคาดว่าน่าจะอยู่ในยุคเดียวกับแพะเมืองผีที่จังหวัดแพร่ เเต่ “กาดเมืองผี” จะมีพื้นที่กว้างขวางกว่ามากๆ สวยงามวิจิตรอลังการ และยิ่งใหญ่กว่าค่ะ

ภาพจาก : foursquare.com

คำว่า “กาด” หมายถึงตลาด “เมืองผี” หมายถึงความเชื่อที่มีมาแต่โบราณที่เร้นลับแล้วเล่าสืบทอดกันมา กาดเมืองผี” ตั้งอยู่ในเขตป่าชุมชนบ้านทรายขาว หมู่ 7 ตำบลศรีดงเย็น อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากที่ว่าการอำเภอไชยปราการ 5 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 96 ไร่ มีสภาพเป็นที่ราบลอนคลื่น สูงต่ำไม่สม่ำเสมอกัน

ภาพจาก : foursquare.com

มีตำนานเร้นลับที่เล่าสืบต่อกันมาว่า แต่ก่อนป่าบริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีพันธุ์ไม้ใหญ่ขึ้นอยู่เต็มพื้นที่ และมีสัตว์ป่าน้อยใหญ่จำนวนมาก ในสมัยนั้นมีชาวบ้านเข้าไปหาของป่าเป็นอาหาร แต่หลงป่าหาทางกลับออกมาไม่ได้ จนเดินมาเรื่อยๆจนมาเจอกับเมืองหนึ่ง ที่มีผู้คนมากมายกำลังทำการจับจ่ายใช้สอยกันอยู่ ชาวบ้านเหล่านั้นจึงนำของป่าไปเเลกเปลี่ยน เเละซื้อหาของมาด้วยเช่นกัน เเต่เมื่อเดินออกมาจากป่าได้ก็ปรากฏว่าข้าวของที่ได้มาจากตลาดเเห่งนั้นเป็นเพียงใบไม้ ก้อนหินเท่านั้นค่ะ กระทั่งทุกวันนี้หากวันดีคืนดีชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียง “กาดเมืองผี” จะได้ยินเสียงตีระฆัง ตีฆ้อง ดังกังวาน ยิ่งหากเป็นวันพระหรือคืนวันเพ็ญ จะได้ยินเสียงร้องโหยหวนดังออกมาจาก “กาดเมืองผี” จึงเป็นที่มาของตำนานแห่ง “กาดเมืองผี” ค่ะ

 

♥ ที่อยู่ : บ้านทรายขาว ตำบลศรีดงเย็น อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่
♥ เบอร์ติดต่อ : 053 248 604, 053 248 607

❀❀❀❀❀❀❀❀

3.ม่อนอังเกตุ 

“ม่อนอังเกตุ” ยอดดอยสูงจากระดับน้ำทะเลที่ 1,840 เมตร อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าปางขุม บ้านปางขุม อำเภอสะเมิง เป็นต้นกำเนิดของลำน้ำสำคัญ 4 สาย คือ ขุนน้ำสา ขุนน้ำเลย ขุนน้ำแม่สาบ และขุนน้ำแม่จุม ไหลรวมสู่แม่น้ำปิง จาก “ม่อนอังเกตุ” มองเห็นผืนป่าฝั่งอำเภอปาย จ.แม่ฮ่องสอน อำเภอแม่แจ่ม อำเภอแม่แตง ห้วยจ้อ ห้วยน้ำดัง ดอยหลวงเชียงดาว และดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ด้วย

ภาพจาก : www.chiangmainews.co.th

ตามตำนานเล่าว่า ม่อนอังเกตุ เกี่ยวเนื่องกับ “ศาลเจ้าแม่อังเกตุ” ว่ามีแม่นางท่านหนึ่งนามว่า “อังเกตุ” เป็นหญิงชั้นสูงในวัง มีพระบิดาเป็น “พ่อพญา” ที่มีนิสัยชอบทำลาย เกลียดชัง “พญาต่อ” จึงกลายเป็นศัตรูกันมาตลอด “พญาต่อ” ล่วงรู้ว่า“พ่อพญา” รักแม่นางอังเกตุลูกสาวคนนี้สุดหัวใจ จึงคิดอุบายไปคาบแม่นางออกจากวัง แล้วนำมาทิ้งไว้ที่ม่อนแห่งหนึ่งบนท้องที่อำเภอสะเมิง “พ่อพญา” ออกตามหาจนเจอลูกสาว หมายจะรับลูกสาวกลับเวียงวัง แต่แม่นาง “อังเกตุ” ไม่ยอมกลับ และได้บอก“พ่อพญา” ว่าจะขออยู่ใช้กรรมให้หมดสิ้นบนดอยนี้

ภาพจาก : www.thaihrhub.com

ด้วยความรักลูกสาว “พ่อพญา” จึงจัดส่งช้าง เสือ แม่นม และองครักษ์คู่ใจเพื่อมาดูแลลูกสาว แต่สุดท้ายแม่นางกำชับว่าหากสิ้นบุญแล้ว ก็ให้ฝังร่างของนางไว้ที่นี่ เมื่อถึงคราวสิ้นบุญร่างของแม่นางจึงถูกฝังไว้บนม่อนแห่งนี้ตามปรารถนา ชาวบ้านท้องถิ่นจึงได้นำชื่อของ “แม่นางอังเกตุ” มาตั้งเป็นชื่อม่อน นามว่า ม่อนอังเกตุ พร้อมกันนั้นก็ได้สร้างศาลเจ้าแม่อังเกตุไว้เพื่อเป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านตราบจนกระทั่งปัจจุบัน

ภาพจาก : doipangkhum.blogspot.com

บน “ม่อนอังเกตุ” จะเป็นลานกว้างและเป็นที่ตั้ง “ศาลเจ้าแม่อังเกตุ” สามารถชมวิวธรรมชาติสวยๆได้ครบแบบ 360 องศา และยังเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้น ชมทะเลหมอก ท่ามกลางทิวสนในฤดูหนาวยามเช้า ชมวิวขุนเขาสลับซับซ้อนในช่วงบ่าย และดื่มด่ำวิวพระอาทิตย์ตกยามเย็นได้อย่างสวยงามค่ะ

❀❀❀❀❀❀❀❀

4.เวียงกุมกาม 

“เวียงกุมกาม” เมืองโบราณอายุกว่า 727 ปี เป็นเมืองที่ “พญาเม็งราย” กษัตริย์แห่งโยนกนครได้สถาปนาให้เป็นเมืองหลวงแห่งแรกของล้านนา แต่ เวียงกุมกาม ก็เป็นเมืองหลวงได้ไม่นานประมาณ 12 ปี เพราะประสบปัญหาน้ำท่วมทุกปี พญามังรายจึงโปรดให้สร้าง “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” ซึ่งมีชัยภูมิที่ดีกว่า เป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ แต่ เวียงกุมกาม ก็ไม่สิ้นความสำคัญด้วยเป็นเมืองบริวารที่มีความใกล้ชิดกับเวียงเชียงใหม่ จนถึงสิ้นราชวงค์มังราย

หลังจากนั้น “เวียงกุมกาม” ล่มสลายลง เพราะถูกน้ำท่วมครั้งใหญ่ น้ำไหลบากเอาดินโคลนจากแม่น้ำปิงมาทับถมเมืองนี้ ทำให้ “เวียงกุมกาม” ถูกฝังจมใต้ตะกอนดินจนยากจะฟื้นฟูเป็นเวลาถึง 700 กว่าปี ประกอบกับอุทกภัยครั้งนั้น แม่น้ำปิงได้เปลี่ยนร่องน้ำไม่ไหลผ่านเวียงกุมกามดังเคย เวียงกุมกาม จึงถูกทิ้งร้างอยู่ใต้ตะกอนดินมานับร้อยๆปี และชื่อของ เวียงกุมกาม ก็ได้เลือนหายไปจากประวัติศาสตร์ จนเชื่อกันว่า เวียงกุมกาม เป็นเพียงเมืองในตำนาน

จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2527 หน่วยศิลปากรที่ 4 ได้ขุดแต่งวิหารกานโถม ณ วัดช้างค้ำ ซึ่งเป็นโบราณสถานสำคัญแห่งหนึ่งใน “เวียงกุมกาม” ทำให้เรื่องราวของ “เมืองในตำนาน” แห่งนี้ปรากฏเป็นเรื่องขึ้น และจากการศึกษาค้นคว้าของนักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ ทำให้เชื่อได้แน่นอนว่าโบราณสถานในเขตท้องที่หมู่ที่ 11 ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี ซึ่งห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้เพียง 5 กิโลเมตรนั้น ก็คือ เวียงกุมกาม หรือ “เวียงเก่า”

ภายใน “เวียงกุมกาม”  มีจุดท่องเที่ยวทั้งหมด  10 จุด (รวมศูนย์ข้อมูลเวียงกุมกาม)

วัดกู่ป้าด้อม อยู่นอกเขตกุมกามติดแนวคูเมือง กำแพงเมืองด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ประกอบด้วยวิหารเจดีย์ แท่นบูชา 2 แท่นล้อมรอบด้วยแนวกำแพงแก้ว อยู่ต่ำกว่าระดับผิวดินปัจจุบันถึง 2 เมตร วัดนี้น่าจะก่อสร้างขึ้นในระยะที่พญามังรายประทับอยู่ที่เวียงกุมกาม ระหว่างปี พ.ศ.1835-1839 และคงสภาพเป็นวัดอยู่เรื่อยมา ซึ่งปรากฏร่องรอยการฉาบผิวนอกของสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ด้วยปูนขาวมากที่สุดในบรรดาวัดร้างของเวียงกุมกาม และยังพบหลักฐานการก่อกำแพงแก้วของวัดที่สมบูรณ์ที่สุด สถานที่ก่อสร้างประกอบด้วย เจดีย์ ประธาน วิหาร แท่นบูชา ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว

ภาพจาก : www.flickr.com/photos

วัดช้างค้ำ (กานโถม) พญามังรายโปรดให้สร้างวัดกานโถมขึ้นในราวปี พ.ศ.1833 ประกอบด้วยฐานเจดีย์ กว้าง 12 เมตร สูง 18 เมตร ทำซุ้มคูหาสี่ทิศ ใช้พระพุทธรูปซ้อนเป็น 2 ชั้น ชั้นล่างไว้พระพุทธรูป 4 องค์ ชั้นบนไว้พระพุทธรูปยืนองค์หนึ่ง มีรูปอัครสาวกโมคคัลลาน์ สารีบุตรและพระอินทร์ รูปนางธรณีไว้สำหรับพระพุทธรูปด้วย นอกจากนี้ ในบริเวณวัดกานโถมยังมีต้นศรีมหาโพธิ์ที่ได้อัญเชิญเมล็ดจากเมืองลังกาใน ครั้งโบราณ และหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญนอกจากพบพระพิมพ์ดินเผาสกุลช่างหริภุญไชย จำนวนหนึ่ง แล้วยังพบจารึกหินทรายสีแดงเป็นอักษรมอญ อักษรที่มีลักษณะระหว่างอักษรมอญกับอักษรไทย และอักษรสุโขทัยและฝักขามรุ่นแรกภายในวัดกานโถมมีต้นโพธิ์เก่าแก่และพระพุทธรูปซึ่งเป็นที่เคารพสักการะ มีหอพญามังรายซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนในละแวกนั้นมาแต่โบราณ

วัดอีค่าง อยู่ติดกับแนวคูน้ำคันดินด้านตะวันตกของเวียง อยู่ลึกลงไปในผิวดิน ประมาณ 2 เมตร ประกอบด้วยวิหารและเจดีย์ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน เป็นแบบล้านนาเต็มตัว เจดีย์อีก้างนี้ จึงอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 ในรัชสมัยของพระเจ้าเมืองแก้ว ประมาณ พ.ศ.2060

วัดหนานช้าง โบราณสถานข้างหน้านี้เป็นตัวอย่างที่บ่งบอกร่องรอยของอุทกภัยที่มีผลต่อ เวียงกุมกามในอดีตกาล ชั้นตะกอนทรายและชั้นดินที่ทับถมหนาถึง 1.80 เมตร วัดหนานช้างเป็นชื่อที่ตั้งขึ้นเพื่อให้เกียรติแก่ บรรพบุรุษของเจ้าของที่ดิน ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ วัดนี้หันหน้าไปทางทิศเหนือ ต่างจากวัดส่วนใหญ่ที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออก อาจเพราะสร้างเพื่อหันหน้าไปสู่เส้นทางสัญจรทางน้ำที่เรียกว่า “ปิงห่าง”

วัดปู่เปี้ย ตั้งอยู่บริเวณที่เข้าใจว่าเป็นแนวคูน้ำคันดิน ด้านทิศตะวันตกของเวียงกุมกาม อยู่ลึกลงไปจากปัจจุบันประมาณ 2 เมตร ประกอบด้วยวิหารเจดีย์อุโบสถ และส่วนประกอบปลีกย่อย เช่น แท่นบูชา ศาลผีเสื้อตั้งอยู่ด้านหน้า ส่วนองค์เจดีย์มีลักษณะศิลปกรรมแบบสุโขทัยและแบบล้านนารวมกันคือ มีเรือนธาตุสูงรับองค์ระฆังขนาดเล็ก อายุการสร้างเจดีย์ปู่เปี้ยน่าจะอยู่รัชสมัยของพญาติโลกราช คือในราว พ.ศ.1988-2068

ภาพจาก : www.flickr.com

วัดธาตุขาว ตั้งอยู่บริเวณที่เข้าใจว่าอยู่นอกแนวคูเมืองเวียงกุมกาม เยื้องออกไปทางทิศตะวันตกอยู่ลึกจากผิวดินปัจจุบันประมาณ 1 เมตร ประกอบด้วยเจดีย์และพระอุโบสถ ลักษณะสถาปัตยกรรมของเจดีย์เป็นเจดีย์กลม ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมแบบศิลปะล้านนา อายุอยู่ในราวพุทธศตรรรษที่ 21 ตรงประดิษฐานพระพุทธรูปในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปปูนปั้นชำรุดขนาดใหญ่ ฉาบด้วยปูนขาวตกอยู่ เข้าใจว่า ชื่อของวัดคงเรียกตามลักษณะพระพุทธรูปนี้

ภาพจาก : www.gerryganttphotography.com

วัดพญามังราย  ตั้งอยู่ในเขตกำแพงเมืองเวียงกุมกามด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วยเจดีย์อยู่หลังวิหาร อุโบสถและซุ้มประตูโขงอยู่ด้านหน้า ลักษณะเจดีย์เป็นศิลปะล้านนา ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยกเก็จรองรับเรือนฐานที่มีซุ้มพระ 4 ด้าน ประดับลวดลายปูนปั้นคล้ายกับเจดีย์ป่าสักเมืองเชียงแสน สันนิษฐานว่าสร้างราวพุทธศตรวรรษที่ 20

ภาพจาก : www.gerryganttphotography.com

วัดพระเจ้าองค์ดำ ตั้งอยู่ในเขตกำแพงเวียงกุมกามทางมุมด้านทิศเหนือ ภายในวัดมีเนิน โบราณสถาน เนินดินแรกอยู่ทางทิศเหนือ กว้างประมาณ 40 เมตร ยาวประมาณ 14 เมตร สูง 3.50 เมตร วางตัวทางแนวทิศเหนือ-ใต้ เนินดินนี้ชาวบ้านเรียกว่า “เนินพญามังราย”  วัดนี้คงเป็นวัดที่สำคัญวัดหนึ่งของเวียงกุมกามเพราะพบสิ่งก่อสร้างหลายแห่ง อีกทั้งรูปแบบของอาคารแต่ละแห่งนั้นมีลักษณะเฉพาะของตนเอง อีกทั้งโบราณวัตถุที่พบจากการขุดแต่งบูรณะ เช่น พระพุทธรูปสำริดศิลปะล้านนาขนาดเล็กหลายองค์ พระพุทธรูปนาคปรกสำริดทรงเครื่องแบบศิลปะเขมร และพระพิมพ์แบบหริภุญไชย

ภาพจาก : thailandtourismdirectory.go.th

วัดเจดีย์เหลี่ยม (กู้คำ)  พญามังรายทรงใช้ขุดคูเมืองทั้ง 4 ด้าน เพื่อนำน้ำปิงเข้าสู่คูเมือง และตั้งลำเวียง (ค่าย) ไว้โดยรอบ และให้ขุดหนองสระไว้ใกล้ที่ประทับ และให้นำดินที่ขุดไปปั้นอิฐก่อเจดีย์เพื่อเป็นที่สักการะของประชาชนทั้งหลาย ขนาดฐานกว้าง 8 วา 1 ศอก สูง 22 วา ถอดแบบมาจากวัดจามเทวี จังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นศิลปกรรมแบบลพบุรี มีพระพุทธรูปยืนอยู่ในซุ้มทั้ง 4 ด้าน ๆ ละ 15 องค์ รวม 60 องค์ กล่าวกันว่าเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระชายาทั้ง 60 พระองค์ ยอดเจดีย์แหลมขึ้นไปเป็นตุ่มไม่มีฉัตรเหมือนเจดีย์ทั่ว ๆ ไป คล้ายสถูป จึงเรียกกันว่า “เจดีกู่คำ” ต่อมาปี พ.ศ.2451 หลวงโยนการวิจิตรได้ทำการบูรณะ โดยให้ช่างชาวพม่าเป็นผู้ดำเนินงานลวดลายต่าง ๆ ทั้งชุบพระและองค์พระเหมือนศิลปกรรมพม่า ทั้งหมด 64 องค์

ภาพจาก : thainorthtour.com

♥ ที่อยู่ : ตำบลช้างเผือก จังหวัดเชียงใหม่

❀❀❀❀❀❀❀❀

5.เวียงท่ากาน 

“เวียงท่ากาน” เป็นเมืองโบราณที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นเมืองหน้าด่านของ “อาณาจักรหริภุญชัย” หรือลำพูนในปัจจุบัน ซึ่งมีกำแพงเมืองและคูเมืองล้อมรอบ รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เป็นโบราณสถานอันเก่าแก่ที่สร้างขึ้นตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 13 คำว่า “ท่ากาน” ชาวบ้านเล่าว่ามาจากคำว่า “ต๊ะก๋า” ในตำนานเล่าว่า เมื่อก่อนนี้มีกาเผือกตัวใหญ่จะบินลงที่นี้ชาวบ้านกลัวว่าเมื่อบินลงมาจะทำ ให้เกิดความเดือดร้อน ผู้คนในหมู่บ้านจึงพากันไล่กาหรือต๊ะก๋าไม่ให้มาก็เลยเรียกต่อกันมาว่า บ้านต๊ะก๋า ต่อมาเมือประมาณพ.ศ.2450 เจ้าอาวาสวัด ท่ากานได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นบ้านท่ากาน เนื่องจากคำว่า บ้านต๊ะก๋า ไม่เป็นภาษาเขียน

เครดิตภาพ : ตามภาพ

จากหลักฐานทางด้านเอกสาร และตำนานหลายฉบับ เช่น ตำนานมูลศาสนา พงศาวดารโยนก และตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ กล่าวโดยรวมไว้ว่า “เวียงท่ากาน”  เป็นเมืองที่มีประวัติเกี่ยวกับนิยายปรัมปราทางพุทธศาสนา กล่าวถึงพระพุทธเจ้าว่าเคยเสด็จมาที่เมืองนี้มาถึงยุคล้านนา และจากการขุดค้นทางโบราณคดี ได้พบโบราณวัตถุศิลปกรรมแบบหริภุญไชยจำนวนมาก เช่น พระพิมพ์ดินเผาแบบต่างๆ พระพุทธรูปดินเผา เป็นหลักฐานที่ยืนยันว่าชุมชนแห่งนี้นับถือพุทธศาสนามาตั้งแต่ พุทธศตวรรษที่ 17 – 18 ส่วนโบราณสถานที่พบส่วนใหญ่เป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนาที่กำหนดอายุสมัยระหว่างพุทธศตวรรษที่ 20-22 แสดงถึงการอยู่อาศัยสืบเนื่องกันมาโดยตลอด

เครดิตภาพ : ตามภาพ

“เวียงท่ากาน” ปรากฏชื่อในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ว่า “เวียงพันนาทะการ” อาจจะเป็นเมืองที่มีความสำคัญเมืองหนึ่ง เนื่องจากพญามังราย (พ.ศ. 1804-1854)โปรดให้นำต้นโพธิ์ที่นำมาจากลังกาทวีปหนึ่งต้นจากจำนวนสี่ต้น มาปลูกที่เมืองเวียงพันนาทะการ  “เวียงท่ากาน” เป็นเมืองที่มีเจ้าเมืองปกครองภายใต้การปกครองของเจ้าเมืองเชียงใหม่เป็นแหล่งสะสมเสบียงอาหารเพราะเป็น  ถิ่นที่อุดมสมบูรณ์ชื่อของ “เวียงท่ากาน” ปรากฏในเอกสารโบราณเกี่ยวกับเมืองเชียงใหม่ในสมัยพระเจ้าติโลกนาถ กล่าวว่าพระองค์ได้เสด็จยกทัพไปตีเมืองเงี้ยว และได้นำเชลยเงี้ยวไปอยู่ที่เวียงท่าการ หมายถึงว่าในช่วงนี้เวียงพันนาทะการมีฐานเป็นเมืองขึ้นของเชียงใหม่ เพราะคำว่าพันนาในภาษาไทยเหนือหมายถึงตำบล

เครดิตภาพ : ตามภาพ

หลังจากพม่าเข้าตีเมืองเชียงใหม่ได้ในสมัยพระเจ้าหงสาวดี บุเรงนอง “เวียงท่ากาน” จึงตกอยู่ในอำนาจของพม่าเช่นกันต่อมาเมืองเชียงใหม่ถูกทิ้งร้างไปประมาณ 20 ปีเศษ คือในช่วงระหว่าง (พ.ศ.2318-2339) “เวียงท่ากาน” ก็คงจะร้างไปด้วย จนถึงช่วงปี พ.ศ.2339  พระเจ้ากาวิละทรงตี เมืองเชียงใหม่คืนจากพม่าได้จึงกวาดต้อนพวกไทยยองเข้ามาอยู่ตราบจนทุกวันนี้

เครดิตภาพ : ตามภาพ

โบราณสถานภายในเวียงท่ากานที่สำคัญ

  • วัดกลางเมือง
  • วัดหนองหล่ม
  • วัดอุโบสถ
  • วัดน้อย
  • วัดต้นโพธิ์
  • วัดป่าเป้า
  • วัดหัวข่วง
  • วัดป่าไผ่รวก
  • วัดพระเจ้าก่ำ
  • กู่ไม้แดง
  • วัดต้นกอก

♥ ที่อยู่ : ตำบลบ้านกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่

❀❀❀❀❀❀❀❀

6.ผาสิงห์เหลียว 

“ผาสิงห์เหลียว” เป็นสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติที่สวยงามมากๆ ตั้งสง่าโดดเด่นมองเห็นอย่างชัดเจน รูปร่างที่อยู่บนจุดสูงสุดคล้ายกับสิงห์กำลังเหลียว ตั้งอยู่ที่อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ปรากฏการณ์ธรรมชาตินี้เกิดจากการทรุดตัวของผืนดิน จนกลายเป็นรอยชั้นของหิน มีลักษณะคล้ายเสาหิน เป็นดินลูกรัง เสาถูกยึดด้วยเนื้อดินเหนียวลูกรังปนกรวดหิน มีหลายจุดที่มีรูปร่างคล้ายกำแพงโรมัน และก็มีอีกหลากหลายรูปทรง จนสามารถทำให้นักท่องเที่ยวจิตนาการไปได้มากมายค่ะ

ภาพจาก : www.thainorthtour.com

“ผาสิงห์เหลียว” ถูกรายล้อมไปด้วยผืนป่าเต็งรัง จึงทำให้ที่นี่ดูดีกว่าที่อื่นๆ สามารถมองหน้าผาแห่งนี้จากมุมสูงได้ และช่วงฤดูฝนใบไม้จะมีสีเขียวสด ทำให้สีของหน้าผาที่ตั้งตระหง่านตัดกับสีของใบไม้ที่ปกคลุมป่าผืนนี้อย่างชัดเจน ถ้าหากเป็นช่วงป่าเต็งรังเปลี่ยนสี ราวเดือนมกราคมก็จะเห็นป่าเปลี่ยนสีและเสาดินสวยงามไปอีกแบบหนึ่งด้วยค่ะ

ตามตำนานเล่าขานว่า จากดอยแพะก้อมแพะดังขึ้นไปบนดอยสิงห์เหลียว จะเห็นม่อนหินดินขอ ที่เป็นตำนานเล่ากันมาอีกทีว่าหากขึ้นไปตรงนี้จะรู้ว่าสมบัติอยู่ตรงไหน ในหลักฐานชิ้นนี้ซึ่งตรงกับหลักฐานชิ้นหนึ่งในหนังสือดรรชนีเมือง ที่ได้มีการแปลตำนานไว้ในช่วงหนึ่งว่า ในเขตอำเภอฮอดจะมีที่ซ่อนสมบัติอยู่ ในเขตตำบลบ้านตาล 2 แห่ง มีที่บริเวณผาสิงห์เหลียว และดอยแพะก้อม ประวัติตำนานนี้มีอายุล่วงมานับพันกว่าปีมาแล้ว จึงถือว่าเป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์อีกแห่งหนึ่งของชุมชน ถึงแม้ว่าจะไม่มีเอกสารอื่นๆให้เห็นมากนักก็ตามค่ะ

ภาพจาก : mediastudio.co.th

ในอาณาเขตบริเวณแห่งนี้มีสิ่งให้ชมคือ ไม้กลายเป็นหิน นับว่าเป็นแหล่งธรณีวิทยาพอสมควร การที่ไม้จะกลายเป็นหินได้นั้นจะต้องอาศัยวิวัฒนาการมายาวนาน 1,000 ถึง 5,000 ปี จึงจะกลายเป็นหินได้ และในตำนานยังบอกอีกว่ามีคนบอกว่าที่นี่จะมีประตูทางเข้าลึกลับมาก เมื่อก่อนเคยมีถ้ำ แต่ปัจจุบันหาไม่เจอแล้วและคนธรรมดาอย่างเราๆไม่อาจล่วงรู้ได้ว่าอยู่ที่ใด และหากใครสามารถพบทางเข้าถ้ำแห่งนี้ ก็จะเจอกับผู้คุ้มครองคล้ายพญานาค และลักษณะประตูทางเข้าจะเป็นประตูกลลักษณะเป็นเฟืองขนาดใหญ่ทำงานอัตโนมัติตลอดเวลา และใครที่ต้องการจะหยุดประตูกลนี้ได้ จะต้องใช้ไม้ซุงหลายร้อยท่อนเพื่อนำไปค้ำให้หยุดกลไกของประตู เพื่อที่จะสามารถเข้าไปข้างในได้ หากเข้าไปได้แล้วก็จะพบกับสมบัติมากมาย (ว่ากันว่ามีสมบัติมากจนคนทั้งอำเภอรวยไป 7 ชั่วโคตร) และความลึกของถ้ำผาสิงห์เหลียวจะไปโผล่ที่วัดลัฎฐิวัน (วัดบ้านตาลเหนือในปัจจุบัน)

ภาพจาก : mediastudio.co.th

ตำนาน “ผาสิงห์เหลียว” ได้ผู้เกี่ยวข้องทำการคัดลอก และแปรเป็นภาษาไทยมาจากใบลานที่เก่าแก่ ที่แทบจะมองไม่เห็นแล้ว เป็นที่เที่ยวยอดฮิตที่ควรค่ากับการไปให้ได้สักครั้ง

♥  ที่อยู่ : ตำบลบ้านตาล อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่

❀❀❀❀❀❀❀❀

7.ถ้ำเมืองออน 

“ถ้ำเมืองออน” เป็นถ้ำขนาดใหญ่เป็นโพรงอยู่ใต้ภูเขาหินปูน ภายในถ้ำเมืองออนมีหินงอกหินย้อยที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และมี “พระธาตุนมผา” ซึ่งเป็นหินงอกบรรจุพระเกศาขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า นับได้ว่าเป็นพระธาตุที่มีความแปลก และงดงามมาก เพราะมาจากธรรมชาติไม่ใช่สิ่งก่อสร้างของมนุษย์

ตามตำนานกล่าวไว้ว่าในอดีตพระพุทธเจ้าได้เดินธุดงค์เผยแพร่คำสอนผ่านมายังเมืองหริภุญชัย แล้วขึ้นเหนือมายังถ้ำดอยศิลาซึ่งเป็นชื่อเดิมของ “ถ้ำเมืองออน” ได้มีพญานาคที่สิงสถิตอยู่ภายในถ้ำแปลงกายเป็นมนุษย์แล้วได้นำผลไม้ และน้ำผึ่งป่าถวายแด่พระพุทธเจ้า เมื่อท่านรับเอาแล้วก็ถวายพรแก่พญานาค พญานาคจึงมีความปิติยินดีจึงขอเอาเกศาธาตุพระพุทธเจ้ามาตั้งไว้ในพระธาตุนมผาเพื่อเป็นที่กราบไหว้สักการะบูชาภายในถ้ำ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2471 ท่านครูบาศรีวิชัยได้ธุดงค์มาพบถ้ำแห่งนี้ จึกชักชวนผู้มีจิตศรัทธาสร้างถนนและบันไดขึ้นสู่ปากถ้ำ ได้สร้างพระพุทธรูปทันใจซึ่งสามารถสร้างเสร็จภายใน 1 วัน และได้เปลี่ยนชื่อถ้ำเป็น ถ้ำเมืองออน ในที่สุด

การเดินเที่ยว “ถ้ำเมืองออน” นั้นจากจุดจอดรถต้องเดินขึ้นบันไดพญานาค 187 ขั้น เข้าสู่ปากถ้ำ ก่อนที่จะต้องเดินลงเข้าสู่ถ้ำ เส้นทางค่อนข้างชัน และแคบ จุดต่างๆที่น่าสนใจบริเวณ “ถ้ำเมืองออน” นอกจากพระธาตุนมผา ได้แก่ พระสถูปครูบาศรีวิชัย ถ้ำฤาษี หินงอกหินย้อยรูปร่างต่างๆ เช่น ไดโดนเสาร์ แมวหิน หัวสิงโต น้ำหยดนมผา กระโถนฤาษี เต่าหิน หัวพญานาค บัวพันชั้น ทรายหลายแล้ง ไม้สักล้านปี พระพุทธรูปต่างๆที่อยู่ภายในถ้ำ พระเจ้าลี้ลับ พระกรุณาไชยาสน์ พระพุทธเจ้านั่งบัว นอกจากนั้นจากปากถ้ำสามารถเดินขึ้นไปอีก 700 กว่าขั้นเพื่อนมัสการหลวงพ่อทันใจ และชมวิวทิวทัศน์ที่สวยมากๆค่ะ

ที่อยู่ : อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่

❀❀❀❀❀❀❀❀

8.เจดีย์ขาว 

“เจดีย์ขาว” หรือ เจดีย์กิ่ว ตั้งอยู่ใจกลางถนน ปัจจุบันเป็นวงเวียนให้รถวนรอบ อยู่บริเวณหัวมุมถนนข้างเทศบาลนครเชียงใหม่ใกล้กับสถานกงศุลอเมริกา ส่วนอีกฝั่งติดแม่น้ำปิงซึ่งเป็นแม่น้ำสาย “เจดีย์ขาว” หรือที่ชาวล้านนาเรียกว่าเจดีย์กิ่ว ซึ่งสาเหตุที่เรียกว่าเจดีย์กิ่วนั้น มาจากชั้นตรงกลางของเจดีย์ จะมีลักษณะคอดเข้าไปเป็นกิ่ว (กิ่ว แปลว่า คอดมาก เล็กตอนกลาง)

ภาพจาก : culture.mome.co

ตามตำนานเล่าประวัติของ “เจดีย์ขาว” ไว้ว่า ในสมัยโบราณกาลพม่ายกกองทัพมาประชิดเมืองเชียงใหม่ เพื่อต้องการยึดเมืองเชียงใหม่ ได้ท้าพนันดำน้ำแข่งกันระหว่างไทยกับพม่า เพราะพม่าเชื่อว่าคนเชียงใหม่ไม่มีใครดำน้ำเก่ง เนื่องจากเชียงใหม่อยู่ในภูมิประเทศที่ดอน คนเชียงใหม่จึงไม่ค่อยชำนาญเรื่องทางน้ำ โดยการแข่งดำน้ำมีเมืองเชียงใหม่เป็นเดิมพัน หากใครขึ้นจากน้ำแม่ปิงก่อนเป็นฝ่ายแพ้ หากไทยแพ้พม่าจะยึดเมืองเชียงใหม่เป็นเมืองขึ้น หากไทยชนะพม่าจะยกทัพกลับ

พม่าให้ไทยประกาศหาคนเชียงใหม่ที่ดำน้ำเก่งมาแข่งกับพม่า โดยให้หาคนมาแข่งขันภายใน 3 วัน เจ้าเมืองเชียงใหม่จึงได้ประกาศรับสมัครหาคนเป็นตัวแทนมาแข่งขันกับฝ่ายข้าศึก เมื่อครบ 3 วันก็ยังไม่มีใครอาสา ในที่สุดเจ้าเมืองเชียงใหม่ก็เห็นทีว่าจะต้องเสียเมืองให้แก่พม่า แต่พอดีได้มีชายคนหนึ่งรู้ข่าว ชายคนนั้นชื่อ “ปู่เปียง” จึงรับอาสาประลองดำน้ำครั้งสำคัญ ทั้งๆที่ดำน้ำไม่เก่งเลย

ภาพจาก : lannastoryandlegend.blogspot.com

เมื่อถึงเวลาแข่งขันบริเวณริมแม่น้ำปิงตัวแทนทั้งสองฝ่ายต่างก็ดำลงไปในน้ำพร้อมกัน ปรากฎว่าตัวแทนฝ่ายข้าศึกโผล่ขึ้นมาก่อนจึงถือว่าแพ้ ก็ได้ยกกองทัพกลับไป ฝ่ายปู่เปียงดำน้ำเป็นเวลานาน ก็ไม่โผล่ขึ้นมาสักที ท่านเจ้าเมืองจึงให้คนดำลงไปดู ปรากฎว่าปู่เปียงใช้ผ้าขาวม้าผูกตนเองติดกับเสาหลักใต้น้ำถึงแก่ความตาย เจ้าเมืองเชียงใหม่จึงได้สร้าง “เจดีย์ขาว” ขึ้นบริเวณริมแม่น้ำปิง เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความดีของปู่เปียงที่สละชีวิตตนเองเพื่อปกป้องบ้านเมืองเอาไว้

ภาพจาก : culture.mome.co

ในปัจจุบันหากเรามอง “เจดีย์ขาว” แค่เพียงผิวเผินอาจจะเป็นแค่เจดีย์ขาวขนาดย่อมที่เป็นเหมือนวงเวียนตรงกลางถนน ซึ่ง“เจดีย์ขาว” มีลักษะคล้ายเจดีย์สามเหลี่ยมทรงกลม กว้าง 6 เมตร สูง 8 เมตร องค์สถูปโบกปูน ไม่มีลวดลายประดับแต่อย่างใด แม้จะตั้งอยู่ในบริเวณที่มีการจารจรหนาแน่ แต่ก็ไม่มีใครกล้าย้ายเจดีย์นี้ จึงนับว่าได้เรื่องราวของ “เจดีย์ขาว” มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง และ “เจดีย์ขาว” แห่งนี้ได้ซ่อนเรื่องราวประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ให้ได้จดจำว่าครั้งหนึ่งเคยมีชายผู้หนึ่งเป็นวีรบุรุษหาญกล้า ยอมสละชีพเพื่อบ้านเกิดเมืองนอนด้วยความรักชาติอย่างภาคภูมิใจ “เจดีย์ขาว” จึงเป็นอนุสรณ์แห่งความดีที่ปรากฏให้เราเห็นจนถึงปัจจุบัน

❀❀❀❀❀❀❀❀

9.วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร 

วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุส่วนพระเศียรเบื้องขวา มีความพิเศษแตกต่างจากที่อื่นคือ เป็นพระบรมธาตุที่ไม่ได้ฝังใต้ดิน แต่ประดิษฐานอยู่ในกู่ภายในวิหาร

ตามตำนานเล่าว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จมายังดอยนี้ และทรงพยากรณ์ว่าที่นี่จะเป็นที่ประดิษฐานพระทักขิณโมลีธาตุของพระองค์ในภายหน้า ซึ่งในราวปี พ.ศ. 1995 นางเม็งและนายสอยได้พบพระบรมธาตุ จึงได้ก่อพระเจดีย์และสร้างเสนาสนะที่ดอยต้นทอง คนทั้งหลายจึงเรียกชื่อวัดนี้ว่า วัดจอมทอง ต่อมาในสมัยพระเมืองแก้ว (พ.ศ. 2038-2068) กษัตริย์องค์ที่ 14 แห่งราชวงศ์มังราย ท่านได้สร้างวิหารจัตุรมุข ภายในมีมณฑปปราสาทเพื่อประดิษฐานองค์พระบรมธาตุ เจ้าเมืองเชียงใหม่หลายพระองค์ทรงได้อัญเชิญองค์พระบรมธาตุศรีจอมทองไปยังเมืองเชียงใหม่เพื่อทำการสักการะ โดยมีวัดต้นเกว๋น ที่ อ.หางดง เป็นวัดที่หยุดพักขบวนระหว่างแห่องค์พระบรมธาตุเข้าเมือง ในทุกๆปี ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 และวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 จะมีพิธีแห่องค์พระบรมธาตุไปบูชาข้าวที่อุโบสถและให้พุทธศาสนิกชนได้สรงน้ำ

สถานที่สำคัญภายในวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร

  • พระอุโบสถ
  • หอพระไตรปิฎก
  • พระเจดีย์บริวาล (พระธาตุน้อย)
  • พระธาตุศรีจอมทอง
  • พระวิหารจัตุรมุข

♥ ที่อยู่ : ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่
♥ เบอร์ติดต่อ : 053-341-725, 053-826-869

❀❀❀❀❀❀❀❀

10.กำแพงและประตูเวียงเชียงใหม่ 

เอกลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่ ที่ไม่เหมือนที่ไหนๆคือมีคูเมืองล้อมรอบ และกำแพงเมือง ซึ่งอดีตเป็นคูเมืองที่ใช้ป้องกันข้าศึก และยังเป็นแหล่งประมง แหล่งน้ำ สำหรับเมืองเชียงใหม่ แม้ว่าในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาจะมีการบูรณะซ่อมแซมมาบ้าง แต่แนวกำแพงและประตูเมืองที่เห็นในปัจจุบันยังคงมีเค้าโครงของแนวกำแพงสมัยโบราณอยู่ ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ ในปี พ.ศ. 2478

ภาพจาก : www.chiangmaiworldheritage.net

คูเมืองเชียงใหม่มีความกว้าง 9 วา (ราว 18 เมตร ปัจจุบันเหลือประมาณ 13 เมตร) ถูกสร้างขึ้นโดยกำลังคน เมื่อเจ็ดร้อยกว่าปีก่อน เช่นเดียวกับกำแพงและประตูเมือง ในขณะที่คูเมืองเชียงใหม่เป็นของเดิม แต่กำแพงและประตูเมืองที่หลายคนเข้าใจว่าเป็นโบราณสถานคู่เมืองมาแต่โบราณ ล้วนถูกสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมด โดยกำแพงเมืองที่เป็นโบราณสถานที่ยังคงหลงเหลือให้เห็น (จาก ‘แจ่งเมือง’ หรือหัวมุมทั้ง 4 ของคูเมือง) ล้วนเป็นสิ่งปลูกสร้างในยุคสมัยที่พระเจ้ากาวิละกลับมารื้อฟื้นเมือง (ยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง พ.ศ.2325-2339) หลังจากที่เชียงใหม่ร้างไร้ผู้คนไปกว่าสองร้อยปีจากการปกครองของพม่า เป็นกำแพงเมืองก่ออิฐ มีป้อมปราการ และประตูเมืองชั้นใน 5 ประตู

กำแพงเมืองและประตูเมืองเชียงใหม่มีความสำคัญ ถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์เด่น ในการสร้างกำแพงเมืองเชียงใหม่ขึ้นแต่เดิมนั้น กำแพงเมืองเชียงใหม่มีสองชั้นคือ กำแพงชั้นในรูปสี่เหลี่ยม และกำแพงชั้นนอกหรือกำแพงดิน กำแพงทั้งสองชั้นสร้างขึ้นไม่พร้อมกัน มีความสำคัญไม่เท่ากัน กำแพงชั้นในสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยพระยามังราย เมื่อครั้งสถาปนาเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ.1839 ส่วนกำแพงชั้นนอกสันนิษฐานว่าสร้างประมาณพุทธศตวรรษที่ 22 บริเวณกำแพงเมืองชั้นใน ประกอบด้วยประตูเมือง

ภาพจาก : www.lannaexpertdriver.com

ประตูช้างเผือก เดิมมีชื่อว่า ประตูหัวเวียง เป็นประตูชั้นในด้านทิศเหนือ สมัยก่อนเป็นประตูเอกของเมือง ในพระราชพิธีบรมราชาพิเษก กษัตริย์จะเสด็จเข้าเมืองยังประตูนี้ ได้เปลี่ยนชื่อในรัชสมัยของพระเจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 1 เนื่องจากได้โปรดให้สร้างอนุสาวรีย์รูปช้างเผือกขึ้น ปัจจุบันมีสถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง ได้แก่ อนุสาวรีย์สามกษัตริย์, วัดหัวข่วง, วัดโลกโมฬี, หอประวัติศาสตร์, พิพิธภัณฑ์ถิ่นล้านนา, วัดอินทขิล

ประตูเชียงเรือก ตั้งอยู่ด้านตะวันออกของกำแพงเมืองชั้นใน มีบ้านเชียงเรือกตั้งอยู่บริเวณนอกกำแพงเมือง เดิมบ้านเชียงเรือกเป็นชุมชนค้าขาย เพราะเป็นที่ตั้งของตลาดเชียงเรือก ตลาดเก่าแก่แห่งหนึ่งของเชียงใหม่ คาดว่ามีประชากรหนาแน่น ซึ่งมีหลักฐานกล่าวถึงสมัยพญาแก้ว เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมเชียงเรือก มีคนจมน้ำตายเป็นจำนวนมาก ในสมัยพระเจ้าอินทวิชายานนท์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 7 (พ.ศ.2416 – 2440) ชื่อประตูเชียงเรือก เปลี่ยนมาเป็นประตูท่าแพชั้นในเพื่อให้คู่กับประตูท่าแพชั้นนอก ซึ่งอยู่บนถนนสายเดียวกัน มีสถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง ได้แก่ ลานจัดกิจกรรมประเพณีต่างๆ , ถนนคนเดิน(ทุกวันอาทิตย์), กาดวโรรส, สะพานนวรัฐ

ประตูเชียงใหม่ ตั้งอยู่ทางด้านใต้ ในอดีตเป็นเส้นทางสำคัญระหว่างเชียงใหม่ไปเวียงกุมกามและลำพูน ในสมัยราชวงศ์มังราย (พ.ศ.1804 – 2101) ทั้งเชียงใหม่ กุมกามและลำพูนตั้งอยู่ด้านตะวันตกของแม่น้ำปิงเช่นเดียวกัน การเดินทางจึงไม่ต้องข้ามแม่น้ำปิง ปัจจุบันเป็นจุดส่วนรวมนักท่องเที่ยว และเป็นศูนย์รวมขายอาหารตอนกลางคืน และมีสถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง ได้แก่ ตลาดประตูเชียงใหม่, วัดเจดีย์หลวง, วัดเจ็ดลิน, วัดช่างแต้ม, ถนนคนเดินวัวลาย(ทุกวันเสาร์)

ประตูแสนปุง ตั้งอยู่ด้านตะวันตกเฉียงใต้ใกล้กับประตูเชียงใหม่ คือเฉพาะกำแพงเมืองด้านใต้เท่านั้นที่มีสองประตู ประตูนี้สันนิษฐานอาจเจาะภายหลังคือไม่ได้สร้างพร้อมกับสร้างเมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ.1839 อย่างไรก็ตามยังไม่พบหลักฐานที่กล่าวถึงการเจาะประตูนี้ หลักฐานตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวถึงประตูแสนปุงครั้งแรกสมัยมหาเทวีจิรประภา พ.ศ.2088 “ชาวใต้มาปล่นเอาปะตูแสนปุง บ่ได้” สันนิษฐานที่ชื่อ แสนปุง เพราะเป็นทางออกไปสู่บริเวณที่มีเตาปุง (เตาไฟ) มากมาย เพราะด้านนอกประตูเป็นที่อยู่ของกลุ่มช่างหลอมโลหะจึงมีเตาปุงไว้หลอมโลหะจำนวนมาก ปัจจุบันยังมีบ้านช่างหล่อพระพุทธรูปอาศัยอยู่ และถนนเลียบคูเมืองด้านนี้ชื่อถนนช่างหล่อจากความเชื่อเรื่องทิศ และพื้นที่ถือเป็นเขตกาลกิณี จึงกำหนดให้ประตูแสนปุงเป็นทางออกไปสุสาน ซึ่งมีสถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง ได้แก่ สวนบวกหาด, เซ็นทรัลแอร์พอร์ต

ประตูสวนดอก ตั้งอยู่ทิศตะวันตก ประตูด้านนี้เป็นทางออกไปสู่อุทยานของกษัตริย์ สมัยพญากือนา พ.ศ.1914 ได้สร้างวัดบนพื้นที่อุทยาน จึงเรียกวัดสวนดอก และในช่วงนั้นพญากือนาคงสร้างเวียงสวนดอกด้วย ปัจจุบันมีสถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง ได้แก่ วัดพระสิงห์, วัดสวนดอก, วัดปันเสา, นิมมานเหมินท์

นอกจากกำแพงเมืองชั้นในแล้ว เมืองเชียงใหม่ยังมีกำแพงเมืองชั้นนอกรูปพระจันทร์เสี้ยว หรือที่รู้จักชื่อกำแพงดิน โอบล้อมไว้ เริ่มตั้งแต่แจ่งศรีภูมิด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เลียบตามลำน้ำแม่ข่าลงมาด้านทิศตะวันออก และทิศใต้ มาบรรจบกับกำแพงเมืองชั้นในที่แจ่งกูเฮือง บริเวณกำแพงเมืองเชียงใหม่ด้านนอกมีประตูเมืองสำคัญอยู่ 5 ประตู

ประตูช้างม่อย อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง ในอดีตถนนช้างม่อยเก่าเป็นเส้นทางโบราณผ่านหมู่บ้านเชียงเรือกไปวัดหนองหล่มแล้วไปสิ้นสุดที่ประตูช้างม่อย ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวถึงประตูช้างม่อยว่า สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2368 เมื่อบ้านเมืองขยายตัวทางราชการได้ตัดถนนช้างม่อยใหม่ขึ้น โดยเจาะกำแพงชั้นในให้ถนนราชวิถีจากในเวียงตัดตรงสู่ถนนช้างม่อยใหม่แล้วไปออกแม่น้ำปิง ดังนั้นชาวบ้านจึงเรียกประตูชั้นในที่เจาะใหม่ว่า ประตูช้างม่อย เพื่อแทนที่ประตูเดิมซึ่งถูกรื้อทิ้งไปในปี พ.ศ.2511

ประตูท่าแพ อยู่ด้านทิศตะวันออกของเมือง บริเวณหน้าวัดแสนฝาง ที่ชื่อท่าแพเพราะเป็นทางออกสู่ท่าน้ำแม่ปิง ในสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เรียกชื่อประตูนี้ว่า ประตูท่าแพชั้นนอก เพราะความเจริญเติบโตของเมืองชื่อของประตูท่าแพชั้นนอกจึงค่อย ๆ หายไป ประตูท่าแพจึงเหลือเพียงประตูเดียว ซึ่งจนปัจจุบันประตูท่าแพก็กลายเป็นแลนด์มาร์คทางการท่องเที่ยวของเมือง

ประตูหล่ายแคง หรือประตูระแกง อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ พบหลักฐานในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวถึง ประตูนี้ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2313 เมื่อกองทัพธนบุรียกมาล้อมเมืองเชียงใหม่ ที่ชื่อหล่ายแคง เพราะบริเวณริมคูเมืองมีลักษณะลาดเท ในสมัยต่อมาจึงเรียกเพี้ยนมาเป็น ประตูระแกง

ประตูขัวก่อม อยู่ทางทิศใต้ ปรากฏในหลักฐานโคลงมังทรารบเชียงใหม่ว่าสร้างขึ้นอย่างน้อยในปี พ.ศ.2158

ประตูไหยา อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวถึงประตูไหยาเป็นครั้งแรกว่า เมื่อเทพสิงห์ยึดเมืองเชียงใหม่จากพม่า ได้บุกเข้ามาทางประตูไหยา แต่ด้วยที่ตั้งของประตูไหยาอยู่ในทิศเดียวกับประตูแสนปุง เป็นตำแหน่งกาลกิณีเมือง จึงใช้เป็นทางเคลื่อนศพมาฌาปนกิจที่สุสานหายยามาตั้งแต่โบราณ

แจ่งเมือง

ในส่วนของกำแพงเมืองเชียงใหม่มีแจ่ง (มุม) 4 แจ่ง ซึ่งถือเป็นป้อมปราการของเมืองในอดีต แต่ละมุมจะออกไปยังสถานที่สำคัญต่างๆ

  • แจ่งศรีภูมิ ป็นแจ่งทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
  • แจ่งก๊ะต้ำ ป็นแจ่งทางทิศตะวันออกเฉียงใต้
  • แจ่งกู่เฮือง เป็นแจ่งทางทิศตะวันตกเฉียงใต้
  • แจ่งหัวลิน เป็นแจ่งด้านตะวันตกเฉียงเหนือ

❀❀❀❀❀❀❀❀

» เรียบเรียงโดย www.hotelandresortthailand.com