One day trip @อยุธยา ( Ayutthaya ) จะไปไหนก็ได้…แต่ไม่ไปไหว้พระ 9 วัดนี้ไม่ได้!

❀ วันนี้ Hotelandresort ขอเป็นไกด์แนะนำจ.อยุธยา 9 วัดนี้ต้องไปให้ได้ เสริมศิริมงคลแบบจัดหนัก! จังหวัดนี้เต็มไปด้วยเรื่องราว ไม่อยากให้ทุกคนหลงลืมกรุงเก่าแห่งนี้ อยากให้ได้ลองไปสัมผัสบรรยากาศสมัยก่อน ที่ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน ใช้เวลาสั้นๆเที่ยวแบบ 1 วันก็ยังได้ เที่ยวง่ายๆ อิ่มบุญอิ่มใจแน่นอนค่ะ

อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา  ตั้งอยู่ภายในเกาะเมืองอยุธยา ซึ่งเคยเป็นอดีตราชธานีของชาติไทยที่มีอายุกว่า 417 ปี  ในช่วงระยะเวลาที่ยาวนาน กรุงศรีอยุธยามีความเจริญก้าวหน้าทางด้านต่างๆ มีปรากฏหลักฐานทางโบราณสถาน  โบราณวัตถุ  อันทรงคุณค่าและยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ในปี พ.ศ.2534 อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม

ภายในอุทยานประกอบด้วย โบราณสถานทั้งภายในเมือง และนอกกำแพงเมือง จำนวนมากกว่า 425 แห่ง เช่น วัดพระศรีสรรเพชญ์, วัดราชบูรณะ, วิหารพระมงคลบพิตร นอกจากนี้ ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยายังมีโบราณสถานที่สำคัญแห่งอื่น ๆ อีก เช่น วัดมหาธาตุ วัดพระงาม วัดไชยวัฒนาราม วัดใหญ่ชัยมงคล วัดพนัญเชิง วัดธรรมิกราช เป็นต้น

ที่อยู่ : ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13000
เบอร์ติดต่อ : 035-242 286 / 035-242 284
เว็บไซต์ : http://www.finearts.go.th/ayutthayahistoricalpark
อีเมลล์ : ay_hispark@hotmail.com
วันและเวลาทำการ : เปิดบริการทุกวัน เวลา 08.00 – 18.00 น.
ค่าเข้าชม : คนไทย 10 บาท และ 40 บาท, ต่างชาติ 50 บาท และ 220 บาท

วัดไชยวัฒนาราม

วัดไชยวัฒนาราม เป็นวัดเก่าแก่สมัยอยุธยาตอนปลาย ตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทางฝั่งตะวันตกนอกเกาะ ได้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2173 โดยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าวัดนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะเหนือนครละแวกโดยจำลองแบบมาจากปราสาทนครวัด

วัดไชยวัฒนารามเป็นวัดหลวงที่บำเพ็ญพระราชกุศลของพระมหากษัตริย์สืบต่อมา หลังจากนั้นทุกพระองค์จึงได้รับการปฏิสังขรณ์สืบต่อมาทุกรัชสมัย เป็นสถานที่ถวายพระเพลิงศพพระบรมวงศานุวงศ์เกือบทุกพระองค์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสิ้นพระชนม์ก็ได้ถวายพระเพลิงที่วัดนี้

❤ สิ่งที่น่าสนใจในวัดไชยวัฒนาราม

❀ ปรางค์ประธาน มีลักษณะเป็นปรางค์จัตุรมุข ในส่วนของมุขด้านตะวันออก จะเจาะมุขทะลุเข้าสู่เรือนธาตุ ซึ่งภายในจะประดิษฐาน พระพุทธรูปนั่ง (ปัจจุบันไม่พบแล้ว) ยอดขององค์ปรางค์ ทำเป็นรัดประคดซ้อนกัน 7 ชั้นแต่ละชั้น เป็นลวดลาย ใบขนุน กลีบขนุน ส่วนบนสุดเป็นทรงดอกบัวตูม ปรางค์แบบนี้มีลักษณะเหมือน ปรางค์ในสมัย อยุธยาตอนต้น ซึ่ง วัดไชยวัฒนารามนั้น สร้างในสมัยอยุธยาตอนกลาง จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นการนำเอาพระปรางค์ที่นิยมสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้นมาก่อสร้างอีกครั้ง

❀ ปรางค์บริวาร คือปรางค์องค์เล็กลงมาที่อยู่รายล้อม ปรางค์ประธาน มีทั้งหมด 4 องค์ลักษณะจะเพรียวกว่า ปรางค์ ประธานเมรุ คืออาคารทรงยอด แหลมที่อยู่รายรอบระเบียงคด ทั้ง 8 ทิศ ภายในคูหาจะประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่อง ปางมารวิชัย เอาไว้ที่เมรุทิศ เมรุละ 1 องค์ เมรุมุม เมรุละ 2องค์ภายในคูหา มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง หลงเหลือร่องรอยอยู่เล็กน้อย

❀ ระเบียงคด คือส่วนที่เชื่อมต่อ ระหว่างเมรุแต่ละเมรุเอาไว้ โดยรอบฐานประทักษิณซึ่งแต่เดิมจะมีหลังคารอบๆ ที่บริเวณระเบียงคดนี้ จะมีพระพุทธรูป ปางมารวิชัยประดิษฐานอยู่ รวมทั้งหมด 120 องค์ แกนในทำจากไม้ พอกปูนทีละชั้นจนได้สัดส่วนส่วนนิ้ว ใช้โลหะสำริด ดัดขึ้นรูป ปัจจุบันเหลือที่ยังมีพระเศียร อยู่ 2 องค์

❀ พระอุโบสถ พระอุโบสถ สร้างอยู่ทางด้านหน้ากำแพงเมรุทิศเมรุราย นอกระเบียงคด ปัจจุบันเหลือแต่ฐาน ข้างๆมีเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง มีกำแพงล้อมรอบโบราณสถานสำคัญแหล่านี้ถึง 3 ชั้น และ มีปรางค์เจดีย์ขนาดย่อมอีกจำนวนหนึ่งซึ่งสร้างเพิ่มในภายหลัง

ที่ตั้ง : อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
เวลาเปิด-ปิด : ทุกวันเวลา 08.00–18.00 น.  และประมาณ 19.30- 21.00 น.
ค่าเข้าชม : คนไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 50 บาท

วัดมหาธาตุ

วัดมหาธาตุ สิ่งที่โดดเด่นคือ  เศียรพระพุทธรูปกว่าร้อยปีในรากไม้  โดยเศียรพระพุทธรูปเป็นพระพุทธรูปหินทรายเหลือแค่ส่วนเศียร คาดว่าเศียรพระพุทธรูปนี้หล่นลงมาอยู่ที่โคนต้นไม้ในสมัยเสียกรุงจนรากไม้ขึ้นปกคลุม ทำให้มีความงดงามแปลกตา จนเลื่องลือกลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์ ทำให้วัดแห่งนี้กลายเป็นวัดที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ

❤ สิ่งที่น่าสนใจในวัดมหาธาตุ

❀ พระปรางค์ขนาดใหญ่ ที่ฐานของพระปรางค์ มีรูปราชสีห์ หมี หงส์ นกยูง กินนร โค สุนัขป่า กระบือ มังกร เรียงรายอยู่โดยรอบ

❀ เจดีย์แปดเหลี่ยม เป็นเจดีย์ลดหลั่นกัน 4 ชั้น 8 เหลี่ยม ชั้นบนสุดประดิษฐานปรางค์ขนาดเล็ก ซึ่งเจดีย์องค์นี้จัดว่าเป็นเจดีย์ที่แปลกตา พบเพียงองค์เดียวในอยุธยา

❀ วิหารที่ฐานชุกชี ของพระประธานในวิหารกรมศิลปากรพบว่ามีผู้ลักลอบขุดลงไปลึกถึง 2 เมตร จึงดำเนินการขุดต่อไปอีก 2 เมตร พบภาชนะดินเผาขนาดเล็ก 5 ใบ บรรจุแผ่นทองเบาๆรูปต่างๆ

❀ วิหารเล็ก มีรากไม้แผ่รากขึ้นเกาะเต็มผนัง รากไม้ส่วนหนึ่งได้ล้อมเศียรพระพุทธรูปไว้ธรรมดากรมศิลปากรจะต้องตัดต้นไม้ออกแต่ที่นี่ดูจะว่าเป็นที่ยกเว้น

❀ พระปรางค์ขนาดกลาง ภายในพระปรางค์ มีภาพจิตรกรรม เรือนแก้วซึ่งเป็นตอนหนึ่งในพุทธประวัติ

❀ ตำหนักพระสังฆราช บริเวณพื้นที่ว่างทางด้านทิศตะวันตก เป็นสถานที่ที่เป็นที่ตั้งพระตำหนักพระสังฆราช ราชทูตลังกาได้บอกไว้ว่า เป็นตำหนักที่สลักลวดลายปิดทอง มีม่านปักทอง พื้นปูพรมมีขวดปักดอกไม้เรียงราย เป็นแถวเพดานแขวนอัจกลับ (โคม) มีบังลังก์ 2 แห่ง

ที่อยู่ : ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา 13000
เบอร์ติดต่อ : 083 004 0423
เวลาเปิด-ปิด : ทุกวันเวลา 07.30 – 17.00 น.
ค่าเข้าชม : คนไทย 10 บาท, ต่างชาติ 50 บาท

วัดพระงาม

วัดพระงาม วัดหันหน้าไปทางด้านทิศตะวันออกมีเจดีย์แปดเหลี่ยมเป็นประธานของวัด ด้านหน้าหรือด้านทิศตะวันออกของเจดีย์ประธานเป็นอุโบสถ มีกำแพงแก้วละคูน้ำล้อมรอบวัด สิ่งก่อสร้างต่างๆภายในวัดมีร่องรอยการบูรณะปฏิสังขรณ์มาแล้วหลายครั้ง วัดพระงามไม่ปรากฏหลักฐานความเป็นมาในเอกสารทางประวัติศาสตร์ แต่จากการศึกษาทางโบราณคดีสามารถสรุปได้ว่า วัดนี้สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นและถูกทิ้งร้างไปเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2310

❤ สิ่งที่น่าสนใจในวัดพระงาม
❀ เจดีย์แปดเหลี่ยม
❀ ซุ้มประตูวัดโอบรอบด้วยต้นโพธิ์
❀ พระอุโบสถ

ที่อยู่ : หมู่ 4 ต.คลองสระบัว อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา 13000
เวลาเปิด-ปิด : ทุกวันเวลา 08.00–18.00 น.

วัดขุนอินทประมูล

วัดขุนอินทประมูล ตั้งอยู่ที่ตำบลอินทประมูล อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง เป็นที่ตั้งของพระพุทธไสยาสน์ที่มีความยาวเป็นอันดับที่ 2 ในประเทศไทย และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกับสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธไสยาสน์ขนาดใหญ่ ชาวบ้านเรียกว่า “พระศรีเมืองทอง” เดิมเป็นพระพุทธไสยาสน์ที่ประดิษฐานในพระวิหารชาวบ้านเรียกว่า “โคกพระนอน” บริเวณใกล้เคียงมีอุโบสถและวิหารขนาดใหญ่ เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 วัดแห่งนี้ถูกไฟไหม้และกลายเป็นวัดร้างประมาณ 100 ปี จนกระทั่งสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ. 2275 – 2301) จึงได้รับการปฏิสังขรณ์

ที่อยู่ : หมู่ 3 ตำบลอินทประมูล อำเภอโพธิ์ทอง ต.อินทประมูล จ.อ่างทอง 14120
เวลาเปิด-ปิด : ทุกวันเวลา 06.00–18.00 น.

ปราสาทนครหลวง

ปราสาทนครหลวง ปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมืองอยุธยาอีกแห่งซึ่งผสมผสานศิลปะไทย และขอมได้อย่างน่าทึ่ง เดิมเป็นตำหนักที่ประทับของกษัตริย์ ต่อมาใน พ.ศ.2352 ตาปะขาวปิ่นได้มาสร้างวัดนครหลวงขึ้นในบริเวณใกล้เคียง อีกทั้งยังสร้างพระพุทธบาทสี่รอยประดิษฐานในมณฑปบนชั้นสูงสุดเป็นพระพุทธบาทซ้อนกันสี่รอยบุ๋มลึกลงไปในเนื้อหินรอยใหญ่ที่สุดกว้างประมาณ 2.50 เมตร ยาว 5.50 เมตร

มีจารึกที่หน้าบันว่าปฏิสังขรณ์เมื่อ ร.ศ. 122 (พ.ศ.2446 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5) เดินชมฝีมือช่างไทยโบราณที่อุตสาหะก่อสร้างปราสาทก่อด้วยอิฐทั้งหลัง ตั้งอยู่บนเนินเขามนุษย์สร้างโดยการถมดินให้สูงที่น่าอัศจรรย์คือมีปรางค์ถึง 30 องค์ รูปทรงคล้ายปรางค์ขอมย่อมุมไม้ยี่สิบพร้อมระเบียงคดในศิลปะขอม เป็นโบราณสถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนและบรรยากาศเงียบสงบ ควรค่าแก่การศึกษาเรียนรู้

ที่อยู่ : หมู่ 1 ตำบลนครหลวง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เวลาเปิด-ปิด : 08.00-17.00 น.

วัดใหญ่ชัยมงคล

วัดใหญ่ชัยมงคล เดิมชื่อวัดป่าแก้วหรือวัดเจ้าพระยาไท มีความผูกพันกับประวัติศาสตร์สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชด้วย กล่าวคือ ในปีพ.ศ. 2135 เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทำศึกยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราชแห่งพม่าที่ตำบลหนองสาหร่าย เมืองสุพรรณบุรี  ทรงสร้างพระเจดีย์ใหญ่ขึ้นที่วัดนี้เป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะ การสร้างพระเจดีย์อาจสร้างเสริมพระเจดีย์เดิมที่มีอยู่หรืออาจสร้างใหม่ทั้งองค์ก็ได้ ไม่มีหลักฐานแน่นอน ขนานนามว่า “พระเจดีย์ชัยมงคล” แต่ราษฎรเรียกว่า “พระเจดีย์ใหญ่” ฉะนั้นนานวันเข้าวัดนี้จึงเรียกชื่อเป็น “วัดใหญ่ชัยมงคล” ทว่าเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 บ้านเมืองถูกกองทัพพม่าเผาทำลาย วัดใหญ่ชัยมงคลจึงถูกทิ้งร้างไปในที่สุด ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์จึงมีการบูรณปฏิสังขรณ์และมีภิกษุสงฆ์จำพรรษาดังเช่นในปัจจุบัน

❤ สิ่งที่น่าสนใจในวัดใหญ่ชัยมงคล

เจดีย์ชัยมงคล อนุสรณ์แห่งชัยชนะของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเหนือมังกะยอชวา  พระมหาอุปราชของหงสาวดี และวิหารพระพุทธไสยาสน์ สร้างในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพื่อเป็นที่ถวายสักการะบูชาและปฏิบัติพระกรรมฐาน ปัจจุบันมีการสร้างพระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีผู้นิยมไปนมัสการอย่างสม่ำเสมอเป็นจำนวนมาก

ที่อยู่ : 40/3 หมู่ที่ 3 ตำบลคลองสวนพลู อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13000
เวลาเปิด-ปิด : 08.00-17.00 น.

วัดพนัญเชิง

วัดพนัญเชิง เป็นวัดเก่าสร้างสมัยเมืองอโยธยาเป็นราชธานี ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เสนาสนะสงฆ์และปูชนียสถานได้ชำรุดทรุดโทรมไปเป็นอันมาก ทางคณะสงฆ์และทางราชการได้ช่วยกับบูรณะปฏิสังขรณ์มาโดยลำดับตลอด ปัจจุบันนี้ก็ได้ดำเนินการบูรณะปฏิสังขรณ์อยู่เสมอ เป็นวัดที่มีชื่อเสียงระบือไปทั่วประเทศโดยเฉพาะหลวงพ่อโตหรือเจ้าพ่อซำปอกงที่พุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทย และชาวจีนต่างให้ความเคารพนับถือมาช้านาน เมื่อมายังวัดแห่งนี้จะไม่แปลกที่จะต้องพบเจอผู้คนจำนวนมากที่ไหลเวียนมานมัสการหลวงพ่อโตกันอย่างเนืองแน่น

❤ สิ่งที่น่าสนใจในวัดพนัญเชิง

– พระพุทธไตรรัตนนายก ( หลวงพ่อโต ) ในพระวิหาร
– รูปปั้นพระนางสร้อยดอกหมาก
– เทศกาลเทกระจาด หรืองานงิ้วเดือน 9 จะมีงิ้วและมหรสพอื่นๆ เล่นประชันกันอย่างครึกโครม จะมีผู้คนนับหมื่นหลั่งไหลกันมานมัสการนับเป็นงานทิ้งกระจาดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยทีเดียว
– แพให้อาหารปลาริมน้ำแม่น้ำป่าสัก

ที่อยู่ : หมู่ 12 ต.คลองสวนพลู อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา 13000
เวลาเปิด-ปิด : 08.00-17.00 น.

วัดพระศรีสรรเพชญ์

วัดพระศรีสรรเพชญ์ เป็นวัดหลวงในพระราชวังโบราณ ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา อีกทั้งยังเป็นต้นแบบของวัดพระศรีรัตนศาสดารามในกรุงเทพมหานคร ซึ่งนักท่องเที่ยวนิยมมาเที่ยวชม ศึกษาความงามทางประวัติศาสตร์ที่ยังเหลือเอาไว้ในสถานที่แห่งนี้ วัดพระศรีสรรเพชญ์ ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ใช้เป็นที่ประทับ ต่อมาสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงสร้างพระราชมณเฑียรขึ้นใหม่ทางตอนเหนือ แล้วจึงโปรดฯให้ยกเป็นเขตพุทธาวาส เพื่อประกอบพิธีสำคัญต่าง ๆ ของบ้านเมือง จึงเป็นวัดในเขตพระราชวังที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา แตกต่างกับวัดมหาธาตุสุโขทัย ที่มีพระสงฆ์จำพรรษา ทั้งวัดมหาธาตุ สุโขทัย,วัดพระศรีสรรเพชญ์ อยุธยา และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ต่างก็ถูกสถาปนาขึ้นในมูลเหตุการสร้างวัดเดียวกันนั่นคือ “สร้างเพื่อเป็นวัดประจำพระราชวัง”

❤ สิ่งที่น่าสนใจในวัดพระศรีสรรเพชญ์

– พระเจดีย์ใหญ่ 3 องค์
– พระวิหารหอระฆัง
– พระอุโบสถ์

ที่อยู่ : เขตพระราชวังโบราณ ถนนศรีสรรเพชญ์ ต.ประตูชัยจ.พระนครศรีอยุธยา 13000
เวลาเปิด-ปิด : 08.00-16.30 น.

วัดธรรมิกราช

วัดธรรมิกราช ถือว่าเป็นปริศนาคลี่คลายจุดกำเนิดของกรุงศรีอยุธยา ตามตำนานเล่าว่าเดิมชื่อวัดมุขราช สร้างขึ้นสมัยพระเจ้าสายน้ำผึ้ง ผู้ครองเมืองอโยธยาศรีรามเทพนคร ซึ่งเป็นอาณาจักรยุคก่อนกรุงศรีอยุธยา ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุว่าวัดนี้เคยได้รับการบูรณะมาแล้วครั้งหนึ่งในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งทรงสร้างวิหารทรงธรรมขนาด 9 ห้องเพื่อสดับพระธรรมเทศนาในวันพระ แต่ถูกไฟไหม้เสียหายเมื่อครั้งกรุงศรีแตกครั้งที่ 2 เมื่อพ.ศ.2310

งานพุทธศิลป์ที่หาชมได้ยากปรากฎอยู่ที่วัดธรรมิกราชแห่งนี้หลายแห่ง เช่น วิหารพระพุทธไสยาสน์ ซึ่งพระราชมเหสีของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงสร้างขึ้นตามคำอธิษฐานที่ทรงขอให้พระราชธิดาทรงหายประชวร องค์พระนอนหรือพระพุทธไสยาสน์มีความยาว 12 เมตร หันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ ฝ่าพระบาทปิดทองประดับกระจก และกราบบูชาพระประธานภายในพระอุโบสถ ซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยสีขาว ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

แต่สิ่งก่อสร้างโดดเด่นที่สุดคือพระเจดีย์สิงห์ล้อม แตกต่างจากวัดอื่น ๆ ที่มักเป็นรูปปูนปั้นช้างล้อม หรือหากจะมีรูปปั้นสิงห์ก็เพียงแต่ล้อมไว้ 4 มุม 4 ทิศ ดังเช่นศิลปะล้านนาที่เชียงใหม่ แต่พระเจดีย์ทรงระฆังแห่งนี้มีสิงห์ล้อมถึง 52 ตัว อันได้รับอิทธิพลจากศิลปะจีนและขอม

ที่อยู่ : ถนนอู่ทอง ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เวลาเปิด-ปิด : 08.00-16.30 น.

ตลาดลาดชะโด

เที่ยวเพลิน ชิมชิล ซึมซับวิถีชีวิตริมคลองกรุงเก่า จ.พระนครศรีอยุธยา ตลาดลาดชะโด เป็นอีกหนึ่งตลาดเก่าแก่ของอยุธยาที่มีอายุกว่า 100 ปี มีพัฒนาการมาจากตลาดน้ำที่มีเรือนแพค้าขายของชาวจีน จากนั้นได้เริ่มมีการก่อสร้างตลาดริมน้ำและบนบกขึ้นให้กว้างใหญ่กว่าร้อยคูหา ปัจจุบันยกจากน้ำขึ้นบกกลายเป็นตลาดวิถีชีวิตริมน้ำ

นอกจากนี้ที่ตลาดลาดชะโดยังเป็นโลเคชั่นหลักของภาพยนตร์-ละครหลายเรื่องที่เคยยกกองมาถ่ายทำอย่าง บุญชู, รักข้ามคลอง, ดงดอกเหมย และความสุขของกะทิ เป็นต้น ส่วนกิจกรรมท่องเที่ยวนอกจากการเดินช้อป ชิม ภายในตลาดแล้ว นักท่องเที่ยวยังสามารถล่องเรือชมวิถีชีวิตริมคลองลาดชะโด การยกยอ ทอดแห บ้านเรือนไทยริมน้ำ ค่านั่งเรือคนละ 10 บาท หรือเหมาทั้งลำ 50 บาทค่ะ

เวลาเปิด-ปิด : ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 09.00-16.00 น.
ที่อยู่ : เทศบาลตำบลลาดชะโด เลขที่ 99 หมู่ 1 ตำบลหนองน้ำใหญ่ อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

❀❀❀❀❀

วันหยุดนี้มีเวลาก็อย่าลืมชวนคนข้างๆไปเที่ยวจ.พระนครศรีอยุธยา สัมผัสธรรมชาติริมฝั่งคลอง ชมวิถีชีวิตแบบชาวบ้าน สืบสานวัฒนธรรมแบบโบราณ และตามรอยประวัติศาสตร์ไหว้พระคู่บ้านคู่เมือง เที่ยวครั้งนี้อิ่มอกอิ่มใจค่ะ ♥

» เรียบเรียงโดย www.hotelandresortthailand.com