เดินปะทะลมหนาว ชม 12 อาคารเก่าคลาสสิคที่ลำปาง

“อาคารกาญจนวงศ์” บ้านขนมปังขิงแสนหวาน

อาคารอายุ 100 กว่าปีที่สร้างตั้งแต่ พ.. 2451 เดิมทีเป็นบ้านพ่อค้าชาวพม่าซึ่งได้สร้างเป็นที่อยู่อาศัยและทำเป็นร้านเย็บผ้า เป็นอาคารปูนทั้งหลัง ประดับตกแต่งด้วยไม้ฉลุและเทคนิคปูน ลวดลายที่ใช้เป็นลายพรรณพฤกษาและลายประดิษฐ์เป็นส่วนใหญ่ ลวดลายปูนปั้นนูนรังสรรค์ด้วยช่างจากมัณฑะเลย์ ตัวอาคารและลายฉลุไม้ทาด้วยสีขาวทั้งหมด

“บ้านสินานนท์” งามอย่างอาร์ตเดโค

สร้างเมื่อ พ.. 2462 มีอายุราว 90 กว่าปีมาแล้ว บ้านสินานนท์เป็นบ้านพักอาศัยหลังแรกในลำปางที่ใช้เทคนิคการก่อสร้างแบบตะวันตก แต่ว่าสร้างด้วยชาวจีนกวางตุ้ง ชื่อว่า ซุย หลีซัง ใช้เงินจำนวน 14,000 บาท มีจุดน่าสนใจคือระเบียงที่ยื่นออกมาจากตัวบ้านโดยไม่มีเสาหรือค้ำยันมารองรับ ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทเคหสถานและบ้านเรือนเอกชน จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ปี 2548

“อาคารหม่องโง่ยซิ่น” บ้านขนมปังขิงแสนงาม

อาคารเก่าแก่อายุกว่า 100 ปีแห่งนี้ โดดเด่นและงดงามจนกระทั่งศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์อย่าง น. ณ ปากน้ำ ยกย่องว่าเป็นอาคารขนมปังขิงริมถนนที่งดงามที่สุดในประเทศไทย ทั้งยังได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี 2550 ประเภทอาคารอนุรักษ์สถาปัตยกรรมล้านนา อาคารหม่องโง่ยซิ่นเป็นเรือนขนมปังขิงหลังคาทรงมะนิลา ลักษณะครึ่งปูนครึ่งไม้ห้องบนสุดคือห้องพระประดับด้วยกระจกสี ขึ้นไปถึงได้โดยใช้บันไดลับที่ซ่อนไว้อย่างแยบยล ความพิเศษอยู่ลายฉลุไม้ ทาสีขาวแบบเรือนขนมปังขิงทั่วไป โดยส่วนใหญ่ลวดลายเป็นลากพรรณพฤกษา ลายก้านขด ลายประดิษฐ์มีลายสัตว์และลายสัญลักษณ์ที่หน้าจั่ว ประดับตกแต่งแทบทุกส่วนของอาคาร ดูแล้วหรูหรา พริ้วไหว ที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือ หน้าจั่วมีการประดับสะระไนอันเป็นลักษณะเด่นของเรือนแบบมนิลา ฝ้าเพดานบุด้วยแผ่นดีบุกดุนลายเหมือนอย่างวัดในพม่า ซุ้มโค้งเหนือประตูด้านในปรุงแต่งด้วยกระจกสีเหมือนดวงอาทิตย์กำลังแผ่รัศมี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออยู่ในบ้านแล้วมองออกมาจะเห็นชัดเจนมาก

ช่างจากพม่าเป็นผู้รังสรรค์ความงามนี้ให้อาคารหม่องโง่ยซิ่น ซึ่งเราจะเห็นตัวอักษารภาษาอังกฤษ Moung Ngwa Zin ติดอยู่ที่ระเบียงไม้ฉลุ สำหรับหม่องโง่ยซิ่นนั้นเป็นบุตรชายหม่องส่วยอัตถ์ ชาวพม่า เฮดแมนคนแรกของบริษัททำไม้ในลำปาง

“บ้านบริบูรณ์” งามงด หมดจด

เป็นเรือนปูนครึ่งไม้ มีลวดลายฉลุที่ยังคงสมบูรณ์ ชั้นสองไม่มีระเบียงแต่จะมีหน้าต่างโดยรอบเป็นแบบบานเกล็ดไม้บาดเปิดคู่ จุดเด่นของอาคารนี้คือลายฉลุที่ตัวเรือนส่วนลางของชั้นสองมีไว้เพื่อระบายอากาศส่วนใหญ่เป็นลวดลายพรรณพฤกษาและลายประดิษฐ์ มีอายุมากกว่า 80 ปี

“อาคารฟองหลี” คลาสสิค รุ่มรวยประวัติศาสตร์

. ณ ปากน้ำได้ชมอาคารฟองหลีว่าเป็นอาคารที่มีศิลปะลวดลายฉลุแบบขนมปังขิงที่ฝีมือประณีตมาก โดยเฉพาะลายเท่าแขนตรงมุมหัวเสาและลายช่องลมโค้งของขอบประตู ซึ่งแปลกกว่าที่อื่นมาก ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทเคหสถานและบ้านเรือนเอกชน จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชนูปถัมภ์

“บ้านจันทรวิโรจน์” เรือนปั้นหยา สีฟ้าขาว

บ้านหลังนี้อายุราว 90 ปี มีกลิ่นอายของศิลปะแบบฝรั่ง พม่าและจีนผสมผสานกัน เป็นเรือนแฝดสร้างด้วยปูนทั้งหลัง ด้านหน้ามีประตูบานเฟี้ยมยาวติดถนน ประตูด้านหน้าไม่ได้ใช้งาน แต่จะใข้ประตูด้านหลังแทนในการเข้าออก ส่วนด้านข้างมีบันไดขึ้นไปชั้นสอง มีการประดับกระจกสีเหนือหน้าต่างบานเกล็ดแบบตะวันตก มีกันสาดหน้าต่าง ใช้เทคนิคหล่อปูนใช้ลายเรขาคณิตอย่างตะวันตกเป็นส่วนใหญ่

“บ้านคมสัน” เมื่อตะวันออกพบตะวันตก

สร้าง พ.. 2460 เป็นบ้านฝรั่งชั้นเดียว ยกใต้ถุนสูง ผนังบ้านและเสาใช้คอนกรีตผสมกับหินกรวดจากแม่น้ำวัง ที่น่าสนใจคือใต้ถุนบ้านหลังนี้ถูกออกแบบให้อยู่ในระดับเดียวกับตัวสะพานรัษฎาพิเศก น้ำจึงไม่ท่วมตัวบ้านเลยสักครั้ง

“อาคารเยียนซีไท้ลีกี” ตึกฝรั่ง หัวใจจีน

อาคารพาณิชย์สร้างด้วยปูนทั้งหลัง ตกแต่งแบบตะวันตกแบบเต็มรูปแบบ ตรงกลางอาคารด้านบนมีจั่ว บอกถึงปีที่สร้าง และมีรูปหนูตามปีเกิดผู้เป็นเจ้าของ และลายสัญลักษณ์ลูกโลกพร้อมทั้งลายไม้ ดอกโบตั๋น ลายต้นไผ่และลายประดิษฐ์รูปโบว์ บ้านหลังนี้มีตู้เซฟโบราณเจาะฝังในกำแพงคล้ายห้องลับขนาดเล็ก โดยฝาตู้เซฟนำเข้ามาจากเยอรมัน ในอดีตถ้ามีเหตุการณ์ล่อแหลมชาวบ้านจะนำของมีค่ามาฝากไว้ที่นี่

“หอศิลป์ลำปาง” ทรงคุณค่าแห่งสถาปัตยกรรมล้านนา

บ้านไม้สักทั้งหลังแบบล้านนา หลังเดียวที่อยู่ในกาดกองต้า ปัจจุบันเป็นที่แสดงงานศิลปะ โดดเด่นงดงามด้วยกาแลคู่ และเป็นระเบียงพักระหว่างกึ่งกลางบันได โดดเด่นด้วยศาลารับแขกหน้าบ้าน

“บ้านแม่แดง” อดีตร้านเกากี่ที่รุ่งเรือง

เป็นเรือนปั้นหยาสองชั้น บ้านปูนทั้งหลัง ไม่มีรั่ว ประตูบานเฟี้ยมแบ่งเป็นสามประตูใหญ่ ชั้นบนมีการตกแต่งราวระเบียงเป็นลวดลายเรขาคณิตสวยงามและโดดเด่นรับกับใต้ชายคาที่นำไม้แกะสลักและฉลุลายมาตกแต่ง

“บ้านอนุรักษ์” แสนกล ซ่อนหลังคา

เป็นอาคารแบบตึกฝรั่ง แต่มีลักษณะผังพื้นแบบร้านค้าชาวจีน มีสองชั้น ชั้นล่างมีทางเดินเชื่อมระหว่างอาคารที่มีเสาเรียงกันเป็นแถวและมีหลังคาคลุม ชั้นสองมีระเบียงยาวเชื่อมต่อกันไปตลอดชั้น บนสุดมีระเบียงบนหลังคาหลอกให้คนเข้าใจว่าเป็นดาดฟ้า

“บ้านเลขที่ ๒๑๐” เรียบง่าย ทรงเสน่ห์

เป็นบ้านเรือนปั้นหยาสองขั้นที่งามแบบเรียบง่าย สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง โดดเด่นและดูมีเสน่ห์ที่หลังคา ซึ่งเป็นกระเบื้องดินขอที่หาดูได้ยากในปัจจุบัน เป็นอาคารที่มีห้องแถวสามห้อง ไม่มีการตกแต่งลวดลายใดๆ ราวระเบียงเป็นซี่ไม้ธรรมดา มีประตูบานเฟี้ยมยาวเหยียด

ขอขอบคุณรูปภาพภาพจาก สมาชิก Pantip : Splendour , www.khopjaithailand.com , Facebook : เทศบาลนครลำปาง เว็บเพจ

☞ เรียบเรียงโดย www.hotelandresortthailand.com