หมวดหมู่ > สถานที่ท่องเที่ยวนครราชสีมา
อุทยานประวัติศาสตร์พิมายอุทยานประวัติศาสตร์พิมายตั้งอยู่ในตัวอำเภอพิมาย ประกอบด้วยโบราณสถานสมัยขอมที่ใหญ่โตและงดงามอลังการนั่นคือ “ปราสาทหินพิมาย” แหล่งโบราณคดีที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ บนพื้นที่ 115 ไร่ วางแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง 565 เมตร ยาว 1,030 เมตรชื่อ “พิมาย” น่าจะมาจากคำว่า “วิมาย” หรือ “วิมายปุระ” ที่ปรากฏในจารึกภาษาเขมรบนแผ่นหินตรงกรอบประตูระเบียงคดด้านหน้าของปราสาทหินพิมาย และยังปรากฏชื่อในจารึกอื่นอีกหลายแห่ง อาจจะเป็นคำที่ใช้เรียกรูปเคารพหรือศาสนาสถาน สิ่งที่เป็นลักษณะพิเศษของปราสาทหินพิมาย คือ ปราสาทหินแห่งนี้สร้างหันหน้าไปทางทิศใต้ต่างจากปราสาทหินอื่นที่มักหันหน้าไปทางทิศตะวันออก สันนิษฐานว่าเพื่อให้หันรับกับเส้นทางที่ตัดมาจากเมืองยโศธรปุระเมืองหลวงของอาณาจักรเขมรซึ่งเข้าสู่เมืองพิมายทางด้านทิศใต้ จากหลักฐานศิลาจารึกและศิลปะการก่อสร้าง บ่งบอกว่าปราสาทหินพิมายคงจะเริ่มสร้างขึ้นในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 16 ในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 รูปแบบทางศิลปกรรมของตัวปราสาทเป็นแบบปาปวนซึ่งเป็นศิลปะที่รุ่งเรืองในสมัยนั้น โดยมีลักษณะของศิลปะแบบนครวัดซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยต่อมาปนอยู่บ้าง และมาต่อเติมอีกครั้งในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 18 สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งครั้งนั้นเมืองพิมายเป็นเมืองซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอาณาจักรเขมร ปราสาทหินแห่งนี้สร้างเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาลัทธิมหายานมาโดยตลอด เนื่องจากพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 และพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงนับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ปราสาทหินพิมายมีสิ่งก่อสร้างที่น่าสนใจดังนี้ สะพานนาคราช เมื่อเข้าไปเยี่ยมชมปราสาทหินพิมายจะผ่านส่วนนี้เป็นส่วนแรก จะเห็นสะพานนาคราชและประติมากรรมรูปสิงห์ ตั้งอยู่ด้านหน้าของซุ้มประตูด้านทิศใต้ของปรางค์ประธานซึ่งเป็นส่วนหน้าของปราสาท ทั้งนี้อาจมีจุดมุ่งหมายในการสร้างให้เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการเชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์กับโลกสวรรค์ ตามคติความเชื่อในเรื่องจักรวาลทั้งในศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ มีลักษณะเป็นรูปกากบาท ยกพื้นขึ้นสูงจากพื้นดินประมาณ 2.50 เมตร ราวสะพานโดยรอบทำเป็นลำตัวพญานาค ชูคอแผ่พังพานเป็นนาคเจ็ดเศียร มีลำตัวติดกันเป็นแผ่น หันหน้าออกไปยังเชิงบันไดทั้งสี่ทิศ ซุ้มประตูและกำแพงชั้นนอกของปราสาท ถัดจากสะพานนาคราชเข้ามาเป็นซุ้มประตูหรือที่เรียกว่า โคปุระ ของกำแพงปราสาทด้านทิศใต้ ก่อด้วยหินทราย มีผังเป็นรูปกากบาทและมีซุ้มประตูลักษณะเดียวกันนี้อีก 3 ทิศ คือ ทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก โดยมีแนวกำแพงสร้างเชื่อมต่อระหว่างกันเป็นผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาวจากเหนือถึงใต้ 277.50 เมตร และกว้างจากตะวันออกไปตะวันตก 220 เมตร ซุ้มประตูด้านทิศตะวันตกมีทับหลังชิ้นหนึ่งสลักเป็นรูปขบวนแห่พระพุทธรูปนาคปรกที่ประดิษฐานอยู่เหนือคานหาม ซุ้มประตูและกำแพงชั้นใน (ระเบียงคด) เมื่อผ่านจากซุ้มประตูและกำแพงชั้นนอกไปแล้ว ก็จะถึงซุ้มประตูและกำแพงชั้นใน ซึ่งล้อมรอบปรางค์ประธาน กำแพงชั้นในของปราสาทแตกต่างจากกำแพงชั้นนอก คือ ก่อเป็นห้องยาวต่อเนื่องกันคล้ายเป็นทางเดินมีหลังคาคลุม อันเป็นลักษณะที่เรียกว่า ระเบียงคด มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ความยาวจากเหนือถึงใต้ 80 เมตร และความกว้างจากตะวันออกถึงตะวันตก 72 เมตร มีทางเดินกว้าง 2.35 เมตร เดินทะลุกันได้ตลอดทั้งสี่ด้าน หลังคามุงด้วยแผ่นหิน การบูรณะระเบียงคดเมื่อปีพ.ศ 2532 ได้พบแผ่นทองดุนลายรูปดอกบัว 8 กลีบ บรรจุไว้ในช่องบนพื้นหินของซุ้มประตูระเบียงคดเกือบจะทุกด้าน แผ่นทองเหล่านี้คงไว้เพื่อความเป็นสิริมงคลเหมือนที่พบในปราสาทอื่นอีกหลายแห่ง ปรางค์ประธาน ตั้งอยู่กลางลานภายในระเบียงคด เป็นศูนย์กลางของศาสนสถานแห่งนี้ ปรางค์ประธานสร้างด้วยหินทรายสีขาวทั้งองค์ ต่างจากซุ้มประตู(โคปุระ)และกำแพงชั้นในและชั้นนอกที่สร้างด้วยหินทรายสีแดงเป็นหลัก มีหินทรายสีขาวเป็นส่วนประกอบบางส่วน เนื่องจากหินทรายสีขาวมีคุณสมบัติคงทนดีกว่าหินทรายสีแดง องค์ปรางค์สูง 28 เมตร ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมไม้สิบสองยาวด้านละ 22 เมตร ด้านหน้ามีมณฑปเชื่อมต่อกับองค์ปรางค์โดยมีฉนวนกั้น องค์ปรางค์และมณฑปตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน ส่วนด้านอื่น ๆ อีกสามด้านมีมุขยื่นออกไปมีบันไดและประตูขึ้นลงสู่องค์ปรางค์ทั้งสี่ด้าน ปรางค์พรหมทัต ตั้งอยู่ด้านหน้าปรางค์ประธานเยื้องไปทางซ้ายสร้างด้วยศิลาแลง มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อมุม กว้าง 14.50 สูงประมาณ 15 เมตร สร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ภายในปรางค์พบประติมากรรมหินทรายจำหลักเป็นรูปประติมากรรมฉลององค์ของพระเจ้าชัยวรมันที่7 (จำลอง) ที่เรียกว่า ปรางค์พรหมทัต ก็เพื่อให้เข้ากับตำนานพื้นเมืองเรื่องท้าวพรหมทัตพระเจ้าแผ่นดิน ปัจจุบันกรมศิลปากรได้เก็บรักษาองค์จริงไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย ปรางค์หินแดง ตั้งอยู่ทางด้านขวา สร้างด้วยหินทรายสีแดง กว้าง 11.40 เมตร สูง 15 เมตร มีมุขยื่นออกไปเป็นทางเข้าทั้ง 4 ทิศ เหนือกรอบประตูทางเข้าด้านทิศเหนือมีทับหลังสลักเป็นภาพเล่าเรื่องในมหากาพย์ภารตะตอนกรรณะล่าหมูป่า ออกจากระเบียงคด (กำแพงชั้นใน) มาบริเวณลานชั้นนอกทางด้านทิศตะวันตก ล้อมรอบด้วยกำแพงชั้นนอกอีกชั้นหนึ่ง ประกอบด้วยอาคารที่เรียกว่า บรรณาลัย มีสองหลังตั้งอยู่คู่กันและมีสระน้ำอยู่ทั้งสี่มุม การเข้าชมอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 07.30-18.00 น. ค่าเข้าชม - ชาวไทยคนละ 10 บาท - ชาวต่างประเทศคนละ 40 บาท - นักเรียน ,นักศึกษา ที่แต่งเครื่องแบบ และ พระภิกษุ ,สามเณร ,นักบวช เข้าชมฟรี - มีบริการยุวมัคคุเทศก์ซึ่งเป็นนักเรียนจากโรงเรียนพิมายวิทยานำชมสถานที่ฟรี *หมายเหตุ การอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ใช้ wheel chair ชมได้บริเวณรอบๆ และมีทางลาดเข้าสู่อุทยานประวัติศาสตร์ฯ และมีห้องสุขาเฉพาะ การเดินทาง - ทางรถยนต์ จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) มุ่งหน้าสู่จังหวัดสระบุรี เมื่อถึงตัวเมืองสระบุรีแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) จากนั้นมุ่งหน้าสู่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อเข้าสู่ตัวเมืองแล้วให้ขับตรงไปเรื่อยๆผ่านเดอะมอลล์ที่อยู่ทางด้าน ซ้ายและป้อมกำแพงสีขาวที่อยู่ทางด้านขวาแล้วให้ขับตรงไปอีก จนไปถึงป้ายที่เขียนว่าไปขอนแก่นแล้วจึงเลี้ยวซ้ายตามที่ป้ายบอก จากนั้นให้ขับตรงไปอีกจนถึงแยกให้เลี้ยวขวาสู่ถนนมิตรภาพ และขับตรงไปเรื่อยๆ ท่านจะผ่านทางเข้าปราสาทหินพนมวัน ซึ่งอยู่ทางด้านขวามือ ขับตรงต่อไปอีกจะผ่านทางเข้าแหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท ซึ่งอยู่ทางด้านซ้ายมือ เมื่อท่านขับตรงมาเป็นระยะทางประมาณ 51 กิโลเมตร พบแยกไฟแดง จากนั้นเลี้ยวขวาที่แยกนี้ เข้าสู่ถนนหมายเลข 206 จากนั้นขับตรงไปสู่อำเภอพิมาย ประมาณ 12 กิโลเมตรจะถึงอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านขวามือของท่าน - ทางรถโดยสารประจำทาง จาก สถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือ นั่งรถสายกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ( รถธรรมดาและปรับอากาศ ) บริการตลอด 24 ชั่วโมง และต่อรถโดยสาร นครราชสีมา - พิมาย - ชุมพวง ซึ่งมีรถโดยสารถึงเวลา 22.00 น. |